หากคุณมีอาการปวดท้องประจำเดือนที่ผิดปกติไปจากเดิม ประจำเดือนมามากกว่าปกติ หรือมาแบบกระปริดกระปรอย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนที่เริ่มบ่งบอกว่าคุณอาจมีช็อกโกแลตซีสต์ แล้วอาการปวดท้องประจำเดือนแบบไหน ที่อาจจะเป็นสัญญานเตือนของช็อกโกแลตซีสต์  การสังเกตอาการช็อกโกแลตซีสต์เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองในเบื้องต้น และสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันเพื่อยับยั้งไม่ให้โรคบานปลาย 

ช็อกโกแลตซีสต์ คืออะไร?

ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst ,Endometriotic cyst ,Endometrioma) หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือ  เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกเป็นประจำเดือน แล้วเลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในช่องท้องแล้วไปฝังตัวที่รังไข่จนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำ ซึ่งภายในบรรจุไปด้วยของเหลวคล้ายเลือดประจำเดือน สะสมไว้จนกลายเป็นสีเข้มขึ้นคล้ายสีช็อกโกแลต 

โดยมักพบเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญอยู่ที่บริเวณผิวด้านนอกมดลูกและบริเวณใกล้เคียง เช่น ท่อนำไข่  รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ช่องคลอด มดลูก และเยื่อบุช่องท้องบริเวณอุ้งเชิงกราน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่เชื่อว่าเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกกระจายไปที่อื่นได้ โดยผ่านทางระบบหลอดเลือดและน้ำเหลือง ทำให้สามารถพบความผิดปกติที่อวัยวะอื่นๆ ได้ทั้ง ปอด ตับ ต่อมน้ำเหลือง สมอง และผิวหนัง เป็นต้น

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้แก่ สตรีที่วัยทองเข้าสู่การหมดประจําเดือน มีบุตรตอนอายุมาก ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ รวมทั้งพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีนเป็นประจำ

ช็อกโกแลตซีสต์

สาเหตุช็อกโกแลตซีสต์

ช็อกโกแลตซีสต์ เกิดจาก ประจำเดือนไหลย้อนกลับไปในรังไข่ (Retrograde Menstruation) เพราะในสภาวะปกติของแต่ละเดือนจะมีการสร้างเยื่อบุขึ้นในมดลูก เพื่อรองรับไข่ที่จะมาฝังตัว แต่เมื่อไม่มีการฝังตัวก็จะทำให้เยื่อบุที่ถูกสร้างขึ้นหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนทางช่องคลอด แต่ในกรณีของการเกิดช็อกโกแลตซีสต์ การบีบตัวของมดลูกบางจังหวะทำให้ประจำเดือนไหลย้อนไปทางปลายท่อนำไข่แทนที่จะไหลลงข้างล่างทางช่องคลอดเพียงทางเดียว จึงทำให้เซลล์เยื่อบุมดลูกไปฝังตัวและเจริญเติบโตในรังไข่จนเกิดเป็นถุงน้ำขึ้น เมื่อเป็นประจำเดือน ถุงน้ำดังกล่าวก็จะมีเลือดออกในถุงเหมือนเยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัว ถุงน้ำจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีลักษณะเป็นเลือดเก่า ๆ อยู่ภายใน

หรือเกิดจากเยื่อบุช่องท้องเกิดการระคายเคือง (Transformation Of Peritoneal Cells) จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือระบบภูมิคุ้มกัน การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน (Embryonic Cell Transformation) จากอิทธิพลของฮอร์โมน แผลหลังผ่าตัด (Surgical Scar Implantation) หรือ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System Disorder) 

และยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่พัฒนาให้เกิดช็อกโกแลตซีสต์ขึ้นในบุคคลบางกลุ่มได้ง่าย ดังนี้

  • ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน นับตั้งแต่วัยเริ่มมีประจำเดือนจนถึงวัยก่อนหมดประจำเดือน เนื่องจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่จะสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง
  • เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย
  • มีรอบเดือนผิดปกติ เช่น มีประจำเดือนรอบสั้น โดยเฉพาะรอบห่างของประจำเดือนน้อยกว่า 27วัน หรือ มีประจำเดือนมาก หรือนานกว่า 7 วันต่อครั้ง
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับทางออกของประจำเดือน เช่น ผู้ป่วยที่มีเยื่อพรหมจารีปิด หรือมีความผิดปกติที่ปากมดลูก
  • มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ เช่น แม่ ยาย พี่สาว มีประวัติเป็นโรคนี้
  • ไม่เคยมีบุตรมาก่อน 

อาการช็อกโกแลตซีสต์

อาการแรกเริ่มไม่มีอาการที่แสดงออกอย่างชัดเจน แต่สามารถสังเกตอาการเสี่ยงต่อการเกิดช็อกโกแลตซีสต์ได้ ดังนี้ 

  • มีอาการปวดท้องประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ (progressive dysmenorrhea) คือ ปวดท้องมากผิดปกติเวลามีประจำเดือน และปวดมากขึ้นๆ ทุกเดือน โดยอาจจะปวดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตั้งแต่สะดือไปถึงอุ้งเชิงกรานและตั้งแต่บั้นเอวไปถึงก้นกบ รวมถึงการปวดท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์
  • มีอาการเจ็บในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์ (dyspareunia) 
  • ปวดหน่วงลงทวารหนักช่วงมีประจำเดือน 
  • ปัสสาวะเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นเลือดช่วงมีประจำเดือน 
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือนานกว่า 7 วัน และการมีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติ
  • ประจำเดือนมาถี่ หรือระยะห่างระหว่างที่เป็นประจำเดือนแต่ละรอบสั้นกว่าปกติ คือมีมากกว่าเดือนละ 2 ครั้ง
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าปกติ อาจเป็นเพราะก้อนซีสต์มีขนาดใหญ่ และไปเบียดกระเพาะปัสสาวะจนทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปก
  • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือดในช่วงมีประจำเดือน
  • หากถุงน้ำมีขนาดใหญ่อาจคลำพบก้อนบริเวณท้องน้อยได้  
  • สัมพันธ์กับอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และภาวะมีบุตรยาก
  • ถ้าเป็นคนผอมแต่มีพุง ให้ตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีถุงน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้นภายในท้อง
  • ปวดไมเกรนบ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงก่อน และระหว่างมีประจำเดือน
  • บางรายอาจไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาเลย แต่คลำพบก้อนแข็งบริเวณท้องน้อยซึ่งอาจจะอยู่ตรงกลางหรือด้านข้างเนื่องจากถุงน้ำโตขึ้นจนมีขนาดใหญ่และอยู่ในระยะที่เป็นอันตราย
  • บางรายตรวจพบว่าโรคนี้เป็นสาเหตุของการมีบุตรยากเนื่องจากท่อนำไข่ตีบตัน ทำให้ไข่ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งผลพวงที่มีสาเหตุมาจากช็อกโกแลตซีสต์ เพราะเมื่อเยื่อบุนี้ไปเกาะอยู่บนรังไข่ ทำให้รังไข่มีพื้นในการผลิตไข่ และสร้างฮอร์โมนน้อยลง เพราะถูกแทนที่ด้วยช็อกโกแลตซีสต์ไข่ที่ผลิตได้ก็ด้อยคุณภาพ และยังทำให้ท่อรังไข่คดงอ ไข่กับอสุจิที่ผสมกันแล้วจึงผ่านมาฝังตัวได้อย่างไม่สมบูรณ์
อาการช็อกโกแลตซีสต์

การรักษาช็อกโกแลตซีสต์

วิธีการรักษาช็อกโกแลตซีสต์นั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการตรวจพบ และขนาดของถุงน้ำว่ามีการเติบโตถึงขั้นใดแล้ว  รวมถึงอาการของผู้ป่วย อายุ และความต้องการมีบุตรร่วมด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้วิธีการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนต่างกัน รวมทั้งความรุนแรงของอาการช็อกโกแลตซีสต์   โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย สามารถแบ่งได้ดังนี้

การใช้ยารักษา

ใช้ในผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ก้อนไม่ใหญ่ และยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาจเป็นการให้ยาแก้ปวด ยาฮอร์โมน เพื่อควบคุมอาการ เช่น 

  • ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ NSAIDs เพื่อช่วยลดอาการปวดประจำเดือนและอาการปวดท้องน้อย หากใช้ยาแล้วไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้อง ผ่าตัด ช็อกโกแลตซีส
  • ยาฮอร์โมน ออกฤทธิ์กดการทำงานของรังไข่ ทำให้รอยโรคของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เกิดการฝ่อตัวลง จึงช่วยลดอาการปวดประจำเดือนและอาการปวดท้องน้อยได้ โดยมีวิธีการให้ยาหลายรูปแบบ เช่น ยากิน ยาฉีด ห่วงฮอร์โมนสำหรับใส่ในโพรงมดลูก ยาฉีด GnRH agonist เป็นต้น ในขณะที่ใช้ยานี้จะมีผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยต้องการตั้งครรภ์ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

การผ่าตัด

การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เพื่อตัดรอยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ออกให้มากที่สุด และคงลักษณะทางกายวิภาคของอวัยวะต่างๆ ในอุ้งเชิงกรานเป็นปกติ  ซึ่งปัจจุบัน การผ่าตัดที่เป็นมาตรฐานในโรคช็อกโกแลตซีสต์ คือการผ่าตัดส่องกล้อง เนื่องจากมีข้อดีกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบเดิม ดังนี้

  • การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
    อาจเปิดแผลแบบตรงหรือแบบขวาง คล้ายในการผ่าตัดคลอด มีข้อเสียคือแผลใหญ่ มีการเจ็บแผลหลังผ่าตัดมาก ใช้เวลาพักฟื้นนาน และมีโอกาสเกิดพังผืดจากการผ่าตัดได้มากกว่าการผ่าตัดส่องกล้อง
  • การผ่าตัดส่องกล้อง
    เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดแผลขนาดเล็ก 0.5-1 ซม.ที่หน้าท้อง แล้วผ่าตัดผ่านกล้องที่มีความละเอียดสูง สามารถผ่าตัดเลาะพังผืด และเอาซีสต์ออกได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่มีข้อดีกว่า คือแผลเล็ก เจ็บแผลน้อย ใช้เวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดไม่นาน โอกาสเกิดพังผืดหลังการผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เป็นวิธีที่เหมาะสมอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ยังต้องการตั้งครรภ์ในอนาคต

การป้องกันช็อกโกแลตซีสต์

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีที่เป็นมาตรฐานในการป้องกันการเกิดช็อกโกแลตซีสต์ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โรคร้ายที่ส่งผลอันตรายถึงชีวิต แต่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิงเราไม่น้อย เนื่องจากต้องทนกับอาการปวดท้องจนบางครั้งส่งผลกระทบทําให้ต้องหยุดเรียน หรือหยุดงาน ฉะนั้นการเข้าไปตรวจเช็คร่างกายกับสูตินรีแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องนอกจากนี้การตรวจสุขภาพเป็นประจำในทุกๆ ปี ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายแรงในภายหลังได้ด้วย เนื่องด้วยช็อกโกแลตซีสต์ หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่มีโอกาสที่รอยโรคนั้นจะกลายเป็นมะเร็งพบได้ประมาณ 1 – 2 % และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่ ชนิดเบื่อบุผิว (Endothelial ovarian cancer) ได้มากขึ้น 2 – 3 เท่าของคนปกติถึงจะมีความเสี่ยงน้อยแต่ไม่ควรประมาท ดังนั้นควรรับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำในทุกๆ ปี

ติดต่อเรา

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก