โดยปกติผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกในช่วงอายุ 12-13 ปี และจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ในช่วงอายุประมาณ 45-55 ปี แต่ในบางกรณีที่มีอาการป่วย หรือได้รับการรักษาที่กระทบต่อรอบเดือนก็อาจทำให้ประจำเดือนหมดก่อนวัยได้เช่นกัน

เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับประจำเดือน

ประจำเดือน คืออะไร ?

ประจำเดือน หรือ รอบเดือน หรือ ระดู (Menstruation หรือ Period)  คือ เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาทุกเดือนทางช่องคลอด โดยร่างกายของผู้หญิงจะมีการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อเตรียมไว้ให้ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิมาฝังตัว เพื่อเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไป แต่หากเดือนนั้นไข่ที่ตกไม่ได้รับการปฏิสนธิ ตัวเยื่อบุโพรงมดลูกที่ร่างกายสร้างขึ้นมาแต่ไม่ได้ใช้งาน ก็จะหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน 

ประจำเดือนจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทุก 21 – 35 วัน แต่ละรอบจะอยู่นาน 3-7 วัน การที่เราต้องมีการสร้างเยื่อโพรงมดลูกใหม่เสมอก็เพื่อให้พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน จึงทำให้เกิดวงโคจรของประจำเดือนแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งก็จะขึ้นๆ ลงๆ ตามระดับของฮอร์โมนเพศด้วย

อาการช่วงเป็นประจำเดือน

ผู้หญิงมักมีประจำเดือนครั้งละประมาณ 3-7 วัน  หากมีรอบเดือนปกติ จะมาตรงกันในทุก ๆ เดือน ทั้งนี้ ก่อนถึงช่วงมีประจำเดือน ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS)  ซึ่งอาจส่งผลทางร่างกายและจิตใจ ดังนี้

อาการทางร่างกาย ได้แก่

  • ปวดศีรษะ
  • อาการปวดท้องประจำเดือน โดยจะรู้สึกปวดบีบบริเวณท้องหรือท้องน้อย
  • ท้องอืด
  • น้ำหนักขึ้น
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ง่วงนอนผิดปกติ
  • เจ็บหน้าอก หรือเต้านมคัดตึง
  • สิวขึ้น
  • เป็นตะคริว หรือมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และหลังส่วนล่าง
  • รู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติ
  • ความต้องการทางเพศต่ำ
อาการช่วงเป็นประจำเดือน

อาการทางด้านจิตใจ และพฤติกรรม ได้แก่

  • มีอารมณ์เศร้าหรือเสียใจ
  • โกรธหรือหงุดหงิดง่าย และอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว
  • อารมณ์แปรปรวน
  • วิตกกังวลง่าย
  • มีพฤติกรรมแยกตัวจากเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้าง
  • ไม่มีสมาธิ ไม่กระตือรือร้น

ลักษณะของประจำเดือนที่มาปกติ

  • ช่วงเวลาที่มีประจำเดือนในแต่ละครั้ง จะอยู่ในช่วงประมาณ 3-7 วัน 
  • ประจำเดือนจะมามากที่สุดภายในช่วง 2 วันแรก 
  • ประจำเดือนอาจมีสีแดงเข้ม สีน้ำตาล หรือสีดำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะประจำเดือนที่มีสีคล้ำ คือ เยื่อบุโพรงมดลูกเก่าที่ถูกขับออกมาเท่านั้น

โดยทั่วไป สามารถเตรียมตัวรับมือและรู้ถึงวันที่จะมีประจำเดือนโดยคร่าว ๆ ได้ด้วยการจดบันทึกวันแรกที่ประจำเดือนมา หากประจำเดือนมาตามปกติ จะมาในวันเดียวกันของเดือนถัดไป หรืออาจคลาดเคลื่อนจากวันเดิมเพียงเล็กน้อย

ลักษณะของประจำเดือนที่มาไม่ปกติ

หากพบความเปลี่ยนแปลงของรอบเดือน หรือมีอาการผิดปกติติดต่อกันนานกว่า 3 รอบเดือน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด ดังนี้

  • มีประจำเดือนมาติดต่อกันนานเกินกว่า 7 วัน
  • ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลานานเกินกว่า 90 วัน
  • มีรอบเดือนผิดปกติอย่างฉับพลัน หรือมีความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น มาถี่เกินไป หรือมาช้าเกินกว่ารอบเดือนปกติ
  • ประจำเดือนมามากกว่าปกติ
  • มีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง
  • มีไข้สูง หรือรู้สึกไม่สบายอย่างเฉียบพลันหลังจากใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
  • เด็กผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่มีประจำเดือนช้ากว่าอายุ 15 ปี

ภาวะแทรกซ้อนของประจำเดือน

  • โรคโลหิตจาง การสูญเสียเลือดจากประจำเดือนมากเกินไป อาจส่งผลให้ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลงและต้องการธาตุเหล็กในการผลิตฮีโมโกลบินมากขึ้น ซึ่งหากร่างกายไม่ได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอก็จะทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในที่สุด โดยอาการของโรคหิตจางที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ อ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายผิดปกติ
  • อาการปวดประจำเดือนที่รุนแรง การมีประจำเดือนมากผิดปกติจะส่งผลให้ผู้หญิงปวดประจำเดือนรุนแรงยิ่งขึ้น จนทำให้วิธีบรรเทาอาการด้วยตนเองอย่างการประคบร้อนและการรับประทานยาระงับปวดนั้นใช้ไม่ได้ผล และอาจต้องเข้ารับการตรวจทางการแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนต่อไป
การดูแลตัวเองช่วงเป็นประจำเดือน

การดูแลตัวเองช่วงเป็นประจำเดือน

ช่วงเป็นประจำเดือน กล้ามเนื้อที่มดลูกจะบีบ และคลายตัวมากกว่าปกติ ทำให้ผู้หญิงอาจรู้สึกไม่สบายหรือปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยได้ การดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการสามารถทำได้ ดังนี้

  • ผ้าอนามัย เป็นแผ่นซับเลือดประจำเดือน ใช้แล้วทิ้ง มี 2 ชนิดคือ ผ้าอนามัย แบบภายนอก และผ้าอนามัย แบบสอด เมื่อเป็นประจำเดือนครั้งแรก ควรใช้ผ้าอนามัยแบบภายนอก เพื่อความสะดวก
  • ถุงน้ำร้อน ไว้ใช้ประคบร้อนที่ท้อง เมื่อปวดท้องตอนเป็นประจำเดือน
  • การรับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs ได้แก่ ยาเมเฟนามิกแอคซิด ยานาพรอกเซน ยาไอบูโพรเฟน ยาระงับอาการปวด เป็นต้น
  • หากมีอาการปวดประจำเดือนมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจส่งผลให้ปวดมากขึ้น 
  • พักผ่อนให้มาก หรือหากิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และบรรเทาอาการปวด เช่น การฝึกหายใจ โยคะ หรือไทชิ  
  • หากอาการยิ่งรุนแรงขึ้นหรือเรื้อรังผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะอาการปวดนั้นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพได้

สิ่งที่ควรสังเกตเมื่อมีประจำเดือน

เมื่อประจำเดือนนั้นไม่ใช่เลือดเสีย เป็นแค่เลือดของเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาเท่านั้น สิ่งที่เราควรสังเกตและให้ความสำคัญเมื่อมีประจำเดือน มีดังนี้

  • ปริมาณประจำเดือน โดยปกติแล้วในแต่ละรอบผู้หญิงจะมีประจำเดือนครั้งละประมาณ 80 cc หรือต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2 – 3 ชั่วโมง โดยปริมาณจะน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ถ้าประจำเดือนมามากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง หรือมีเลือดมากทุกวัน หรือประจำเดือนมามากกว่า 8 วัน อาจเกิดความผิดปกติขึ้นในร่างกาย ควรไปพบแพทย์ 
  • ความสม่ำเสมอ รอบเดือนของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วประจำเดือนแต่ละครั้งจะห่างกัน 28 วัน แต่ถ้าประจำเดือนครั้งถัดไปมาตั้งแต่วันที่ 21 หรือจนวันที่ 35 แล้วก็ยังไม่มา ควรไปปรึกษาแพทย์ 
  • ลักษณะของเลือด หากเลือดที่ออกมามีลักษณะเป็นลิ่มเลือดสีแดงสด แดงคล้ำ หรือเลือดประจำเดือนเป็นก้อน อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติในร่างกายได้ 
  • สีของประจำเดือน ปกติแล้วสีของประจำเดือนจะเป็นสีแดงสด แดงเข้ม หรือสีเกือบดำ แต่ถ้าประจำเดือนสีจางหรือสีคล้ายน้ำเหลือง ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ 

สีประจำเดือน บ่อบอกอะไรได้บ้าง

  • สีแดงสด หากเป็นมากกว่า 7 วัน ควรปรึกษาแพทย์
  • สีแดงเข้ม เป็นเลือดปกติที่ตกค้างอยู่ภายใน
  • สีชมพู เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ มักเกิดกับผู้ออกกำลังกายอย่างหนักหรือมีภาวะซีด
  • สีแดงอมส้ม เลือดปนหนอง มีกลิ่นเหม็น อาจมีการติดเชื้อภายในช่องคลอด
  • สีแดงปนเทา หากมีอาการคัน อาจติดเชื้อแบคทีเรีย
  • สีน้ำตาล เป็นปกติ อาจพบได้ก่อนระยะมีประจำเดือนหรือใกล้หมดประจำเดือน หรืออาจเกิดจากภาวะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ แต่หากมีกลิ่นเหม็นหรือคัน ควรปรึกษาแพทย์
  • สีดำ มักพบในระยะประจำเดือนที่เพิ่งมาหรือกำลังจะหมด

หากประจำเดือนมาผิดปกติ ในรอบที่ไม่ใช่รอบประจำเดือน มีอาการตกขาวมีกลิ่นผิดปกติ และมีอาการเจ็บขณะร่วมเพศ หรืออาการปวดประจำเดือนมาก ไม่ใช่อาการปกติ อาจเกิดจากภาวะบางประการ เช่น เนื้องอกมดลูก เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปากมดลูกตีบ หรือ ช็อกโกแลตซีส เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

ติดต่อเรา

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก