โรคมะเร็งรังไข่เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในผู้หญิง การตรวจพบมะเร็งในระยะแรกและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแพทย์สามารถรักษาโรคมะเร็งรังไข่ได้หลายวิธี ส่วนใหญ่มักจะเป็นการผ่าตัด และตามด้วยการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

โรคมะเร็ง เป็นโรคที่เกิดจากการผิดปกติของเซลล์ที่แบ่งตัวต่อเนื่องโดยไม่สามารถควบคุมได้

รังไข่ (Ovary) เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง อยู่ภายในอุ้งเชิงกรานสองข้างของ มดลูก มีหน้าทีผลิตไข่ (Egg/Ovum) สําหรับใช้ในการสืบพันธุ์ไข่ที่ถูกผลิตมาจะเดินทางจากรังไข่ผ่านท่อนําไข่ (Follopian Tubes) ไปที่มดลูก (Uterus) เพื่อที่จะเกิดการ ปฏิสนธิและเติบต่อเป็นตัวอ่อนต่อไป

โรคมะเร็งรังไข่ เป็นโรคที่เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตในรังไข่ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในสตรีที่ทำหน้าที่ในการผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิง

โรคมะเร็งรังไข่ คืออะไร?

โรคมะเร็งรังไข่  (Ovarian Cancer)  เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่เซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วที่รังไข่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอวัยวะระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง ทำหน้าที่ในการผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิง อยู่ใต้ปีกมดลูกทั้ง 2 ด้าน  โดยการแบ่งตัวผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณรังไข่ (Ovary) หรือท่อนําไข่ (Fallopian Tube) ซึ่งสามารถเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ ทําให้รังไข่มีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในระยะลุกลาม หรือระยะการแพร่กระจาย ซึ่งมักแพร่กระจายไปตามเยื่อบุช่องท้อง หรือเข้าสู่กระแสเลือด หรือทางเดินนํ้าเหลือง จนไปปรากฏยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น อุ้งเชิงกราน, ปอด หรือตับ เรียกมะเร็ง รังไข่ระยะนี้ว่า ระยะแพร่กระจาย (Metastasis) ผู้ป่วยมักจะมีอาการท้องอืดหรือท้องบวม น้ำหนักลด และอาจเจ็บในบริเวณท้องน้อยหรือเชิงกรานร่วมด้วย

โรคมะเร็งรังไข่

ประเภทของมะเร็งรังไข่

ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับประเภทของเซลล์และระยะของโรค โดยสามารถแบ่งประเภทของมะเร็งรังไข่ ได้ดังนี้

  • มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ (Epithelial ovarian tumors) เป็นประเภทที่พบได้บ่อย โดยจะมีการแบ่งออกเป็นกลุ่มประเภทย่อย ๆ เช่น Serous และ Mucinous carcinoma เป็นต้น
  • เนื้องอกบริเวณเซลล์สืบพันธุ์ (Germ cell tumors) เป็นประเภทที่พบได้น้อย มักพบในคนอายุน้อย
  • เนื้องอกบริเวณเนื้อเยื่อสโตรมา (Stromal tumors)  พบได้น้อยมาก แต่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรก  

สาเหตุโรคมะเร็งรังไข่

สาเหตุของโรคมะเร็งรังไข่ยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยโรคมะเร็งรังไข่จะเริ่มมาจากมีการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่ในรังไข่ เมื่อเกิดกลายพันธุ์ จะทำให้เซลล์มีการเติบโตและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การเกิดเนื้องอกมะเร็งของรังไข่  ซึ่งมาจากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

  • อายุมากกว่า 55 ปี 
  • มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือป่วยด้วยโรคอ้วน 
  • ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
  • ไม่เคยตั้งครรภ์ 
  • มีภาวะมีบุตรยาก (Infertility) หรือใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากบางชนิด 
  • ได้รับฮอร์โมนทดแทน หรือการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) เป็นยาฮอร์โมนชนิดยาคุมกำเนิดลดอัตราการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ แต่ยาฮอร์โมนบางชนิดอาจกระตุ้นการเกิดมะเร็ง ทั้งนี้แนะนำปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง 
  • กรรมพันธุ์  โดยยีนส์ประเภท BRCA1 และ BRCA2 จะเป็นตัวที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ และมะเร็งเต้านมได้ นอกจากนี้ การอยู่ในกลุ่มอาการลินช์  (Lynch Syndrome) รวมถึงยีนส์ BRIP1 RAD51C และ RAD51D เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่เช่นเดียวกัน 
  • ประวัติบุคคลในครอบครัว  หากมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งประเภทอื่น ๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ผู้ป่วยจะมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่มากขึ้น
  • มีประวัติเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ (endometriosis) หรือช็อคโกแลตซิสต์
  • การสูบบุหรี่

อาการโรคมะเร็งรังไข่

ในระยะแรกโรคมะเร็งรังไข่มักไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อยมาก ซึ่งอาการที่แสดงส่วนใหญ่มักคล้ายกับปัญหาทางด้านสุขภาพทั่ว ๆ ไป ลักษณะอาการมีดังนี้

  • คลำได้ก้อนที่ท้องน้อย
  • ท้องอืด บวม แน่นท้อง
  • ปวดท้องน้อย หรือรู้สึกอึดอัดบริเวณเชิงกราน
  • น้ำหนักลดลง
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาหารไม่ย่อย
  • รู้สึกอิ่มเร็วขึ้นหลังรับประทานอาหาร
  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า โดยไม่ทราบสาเหตุ   
  • มีอาการปวดหลัง
  • ระบบขับถ่ายมีปัญหา เช่น มีอาการท้องผูก หรือท้องเสีย
  • ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

ภาวะแทรกซ้อนโรคมะเร็งรังไข่

โรคมะเร็งรังไข่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อเซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย โดยผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องผูก เกิดภาวะโลหิตจาง ขาดสารอาหาร อ่อนเพลีย ตัวบวมหรือมีอาการท้องมาน ท่อปัสสาวะหรือลำไส้อุดตัน หรือเกิดภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural Effusion) และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หากมีอาการลุกลามของโรคมะเร็งรังไข่

นอกจากตัวโรคแล้ว ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็งรังไข่ได้ด้วย เช่น การติดเชื้อ เกิดรอยช้ำง่ายหรือเลือดไหลผิดปกติ ไตได้รับความเสียหาย เกิดปัญหาด้านการได้ยิน ไส้เลื่อน ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ไม่มีประจำเดือน หรือลำไส้ทะลุ เป็นต้น 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ 

แพทย์จะซักถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัวเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ และตรวจร่างกายของผู้ป่วยในเบื้องต้น จากนั้นแพทย์จะตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง อาทิ

  • การตรวจภายใน แพทย์จะทำการตรวจโดยการสวมถุงมือ สอดนิ้วเข้าไปตรวจภายในช่องคลอดพร้อมกับคลำหน้าท้องด้วยมืออีกข้างหนึ่ง เพื่อตรวจดูขนาดของรังไข่ ของเหลวที่อาจสะสมอยู่ในหน้าท้อง รวมทั้งแพทย์อาจตรวจปากมดลูกและอวัยวะเพศภายนอกทั้งหมด ท้องช่วงล่าง ทวารหนักและขาหนีบ
  • การตรวจจากภาพถ่าย การตรวจมะเร็งรังไข่จากภาพถ่ายจะช่วยให้แพทย์เห็นขนาดและรูปทรงของรังไข่ และการกระจายตัวของมะเร็งจากรังไข่ไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งการตรวจด้วยภาพถ่ายทำได้หลายวิธี เช่น การอัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกราน (ทางช่องคลอดหรือหน้าท้อง), การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจความเปลี่ยนแปลงทางเคมี (PET Scan) เป็นต้น
  • การตรวจเลือด การตรวจเลือดและการทำงานของระบบอวัยวะในร่างกายอื่น ๆ – เพื่อทำการตรวจสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ ได้แก่ CA125 (Cancer Antigen 125) CA19-9 CEA และค่า HE4 (Human epididymal protein 4) และตรวจวัดปริมาณสารบ่งชี้มะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) หรือเอนไซม์แลคเตทดีไฮโดรจีเนส (Lactate Dehydrogenase: LDH) เพื่อเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น โดยเป็นการตรวจหาสารโปรตีนภายในพื้นผิวของเซลล์มะเร็งบริเวณรังไข่ ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้
  • การตรวจความผิดปกติของพันธุกรรม (Genetic Testing) เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม  โดยแพทย์จะใช้ตัวอย่างเลือดในการตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ BRCA2 หรือยีนชนิดอื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นวิธีการตรวจที่เหมาะสำหรับผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่สูง
  • การตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) การผ่าตัด ส่งตรวจชิ้นเนื้อ  เป็นการวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุด  แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็กในระหว่างการผ่าตัด ก่อนจะนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยว่าเนื้องอกดังกล่าวใช่มะเร็งหรือไม่ และเป็นมะเร็งชนิดใด และใช้ข้อมูลที่ได้จากการผ่าตัดเพื่อประเมินระยะของมะเร็ง ซึ่งแบ่งออกเป็นระยะที่ 1 ถึง 4 โดยระยะแรกเริ่มจะแสดงให้เห็นว่ามีการเกิดมะเร็งเพียงแค่บริเวณภายในรังไข่ และระยะสุดท้ายบ่งบอกได้ว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแล้ว 
    • ระยะของโรคมะเร็งรังไข่
    • ระยะที่ 1: เป็นระยะที่พบเซลล์มะเร็งในรังไข่หรือท่อนำไข่ 1 หรือทั้ง 2 ข้าง
    • ระยะที่ 2: เป็นระยะที่พบเซลล์มะเร็งในรังไข่หรือท่อนำไข่ 1 หรือทั้ง 2 ข้าง และเซลล์มะเร็งมีการแพร่ กระจายไปยังเนื้อเยื่อรอบๆ รังไข่ แต่ยังอยู่ภายในเยื่อบุอุ้งเชิงกราน
    • ระยะที่ 3: เป็นระยะที่พบเซลล์มะเร็งในรังไข่หรือท่อนำไข่ 1 หรือทั้ง 2 ข้าง และเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังเยื่อบุช่องท้องด้านบนหรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง
    • ระยะที่ 4: เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่น ตับ ปอด เป็นต้น
การรักษาโรคมะเร็งรังไข่

การรักษาโรคมะเร็งรังไข่

การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักของโรคมะเร็งรังไข่ ส่วนการรักษาโดยเคมีบำบัดมักเป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด แพทย์จะวางแผนการรักษามะเร็งรังไข่โดยคำนึงถึงสุขภาพ การตอบสนองของชนิดของมะเร็งต่อวิธีการรักษา หรือยาที่ใช้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและชนิดของเซลล์มะเร็งดังนี้

  • การผ่าตัด ลักษณะของการผ่าตัดเพื่อทำการรักษามะเร็งรังไข่
    • การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ข้างที่ตรวจพบ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง และเนื้อเยื่อไขมันที่ปกคลุมอวัยวะภายในช่องท้องออกด้วย เป็นการรักษาหลักเพื่อรักษาและกำหนดระยะของโรค
    • ในกรณีที่พบมะเร็งในรังไข่ทั้ง 2 ข้าง ต้องทำการผ่าตัดเพื่อนำรังไข่ทั้ง 2 ข้างออก และอาจแนะนำผ่าตัดมดลูกออกด้วยในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนัก หรือกรณีที่มีบุตรเพียงพอแล้ว หรือเข้าวัยทองแล้ว
    • การผ่าตัดมะเร็งระยะปลาย – ในกรณีนี้แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งออกให้ได้มากที่สุด
  • การรักษาด้วยเคมีบำบัด เป็นแนวทางการรักษาหลังการผ่าตัด โดยจะใช้สารเคมีเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย โดยอาจใช้วิธีการฉีดสารเคมีเข้าไปยังเส้นเลือดหรือการรับประทาน มักจะมีการใช้การรักษาโดยเคมีบำบัดหลังจากการผ่าตัด (Adjuvant chemotherapy)  เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจยังตกค้างภายในร่างกาย หรือในบางกรณีอาจมีการใช้ก่อนการผ่าตัด (Neoadjuvant chemotherapy) เพื่อลดความรุนแรงของโรค เพื่อให้สามารถผ่าตัดออกให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามในระยะที่ 4 การให้ยาเคมีบำบัดจะเป็นการรักษาหลักเมื่อไม่
    สามารถผ่าตัดออกได้หมด อีกแนวทางหนึ่งในการใช้เคมีบำบัดของมะเร็งรังไข่ คือใช้เป็นขั้นตอนต่อจากการผ่าตัด โดยวิธีเพิ่มอุณหภูมิของสารเคมีบำบัดให้สูงกว่าร่างกาย (hyperthermic intraperitoneal chemotherapy) ก่อนที่จะใส่เข้าในช่องท้องและปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้สัมผัสและทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด ก่อนที่จะล้างออก
  • การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) เป็นการใช้ยาหรือสารบางชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งโดยตรง ส่งผลให้เซลล์มะเร็งตายในภายหลัง โดยก่อนการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จำเป็นต้องทดสอบการตอบสนองของยาต่ออาการของโรค เพื่อการใช้ยาในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
  • การฉายรังสี เป็นการใช้รังสีทำลายเซลล์มะเร็งในรังไข่ เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หรือมีเซลล์มะเร็งเกิดซ้ำ โดยตัวอย่างของการฉายรังสีที่นำมาใช้รักษามะเร็งรังไข่ ได้แก่ การใช้รังสีรักษาระยะไกล การฝังแร่กัมมันตรังสี (Brachytherapy) หรือการฉายรังสีร่วมพิกัดบริเวณลําตัว (Stereotactic body radiation therapy: SBRT)
  • การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า การรักษาประเภทนี้ใช้สารที่มีโมเลกุลเล็ก หรือแอนติบอดีเชิงเดี่ยวไปจับกับโปรตีนที่มีบทบาทในการกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง มักมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด โดยแพทย์อาจต้องทำการตรวจเซลล์มะเร็งก่อน เพื่อยืนยันว่าการใช้แนวทางการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า เป็นแนวทางที่เหมาะสม การรักษาแบบนี้มักใช้ร่วมหรือหลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
  • การรักษาด้วยฮอร์โมน ใช้ยาเพื่อยับยั้งผลกระทบของฮอร์โมนเอสโตรเจนไปยังเซลล์มะเร็ง เนื่องจากเซลล์มะเร็งบางประเภทสามารถเติบโตได้จากฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยส่วนใหญ่แนวทางการรักษาด้วยฮอร์โมนมักใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่ที่มีการแพร่กระจายช้า หรือใช้ในการรักษามะเร็งที่มีการเกิดขึ้นซ้ำ
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด แนวทางการรักษาจะเป็นการใช้ระบบภูมิคุ้มกันในการทำลายเซลล์มะเร็ง โดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายไม่ทำลายเซลล์มะเร็ง เนื่องจากเซลล์มะเร็งมีการสร้างโปรตีนซึ่งช่วยในการซ่อนตัวจากเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งการรักษาวิธีนี้จะไปทำลายกระบวนการทำงานดังกล่าว
  • การดูแลรักษาแบบประคับประคอง สำหรับผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่มีอาการรุนแรงและโรคลุกลาม จะได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ซึ่งจะเป็นวิธีที่เน้นไปยังการบรรเทาความเจ็บปวดและอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการรักษา โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างแพทย์ พยาบาล และครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตมากที่สุด

การป้องกัโรคนมะเร็งรังไข่

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จากวัตถุดิบและกรรมวิธีที่ปลอดจากการเกิดมะเร็ง 
  • ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว 
  • ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ก่อนใช้ยา สมุนไพร อาหารเสริมต่าง ๆ โดยเฉพาะยาคุมกำเนิด 
  • ยากินคุมกำเนิด  การกินยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง นาน 5 ปีขึ้นไป สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ได้ถึง 50% อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงจากการใช้ยาคุมให้ดีก่อนเริ่มใช้ยา
  • การลดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ หากว่าผู้ป่วยมีสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเต้านม ควรทำการปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจทางพันธุกรรมเพิ่มเติม หากตรวจพบ อาจมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดรังไข่เพื่อป้องกันมะเร็งได้ ทั้งนั้นควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อนตัดสินใจ
  • การตรวจคัดกรอง ไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่แม่นยำ
  • การอัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกรานสม่ำเสมอ การตรวจเลือดเพื่อหาสารมะเร็งรังไข่นั้นแนะนำให้ทำในผู้ป่วยที่ตรวจพบความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งรังไข่
  • ผู้หญิงควรตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์อย่างน้อง 1 ครั้ง ต่อปี

ตรวจภายใน ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก