ภาวะช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) เกิดขึ้นบริเวณภายในช่องคลอด และปากช่องคลอด อาการที่พบบ่อย คือ ตกขาวผิดปกติ คัน กลิ่น ตกขาวปนเลือด แสบร้อนในช่องคลอด ซึ่งการวินิจฉัยโรคสามารถทำโดยการตรวจภายในร่วมกับการนำตกขาวไปตรวจ เพื่อหาสาเหตุของเกิดช่องคลอดอักเสบว่ามีที่มาจากเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย  เช่น 

  • ตกขาวจากเชื้อรา เกิดจากความอับชื้น ตกขาวชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นแป้ง มีอาการคันบริเวณช่องคลอด
  • ตกขาวจากเชื้อแบคทีเรีย ตกขาวจะมีกลิ่นเหม็นคาว หรือกลิ่นภายหลังมีเพศสัมพันธ์

ภาวะเชื้อราในช่องคลอด คืออะไร?

ภาวะเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis) เกิดจากการติดเชื้อราภายในช่องคลอด หรือบริเวณปากช่องคลอด มีการเพิ่มจำนวนเชื้อรามากกว่าปกติภายในช่องคลอดจนทำให้สภาพภายในช่องคลอดเสียสมดุล โดยปกติเชื้อราเหล่านี้มักอาศัยอยู่ตามช่องปาก อวัยวะเพศ ระบบทางเดินอาหาร หรือบนผิวหนังของคนเราในปริมาณน้อยและไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อเชื้อราเหล่านี้มีปริมาณมากขึ้นจึงพัฒนาให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ โดยผู้ที่ป่วยจะมักพบอาการบริเวณปากช่องคลอด และภายในช่องคลอด เช่น ระคายเคือง คันอย่างรุนแรง ผื่นขึ้น หรือบวมแดง รวมถึงมีตกขาวออกจากช่องคลอดได้ 

การติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยการติดเชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในช่วงก่อนการมีประจำเดือน บางรายอาจเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือบางรายที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็อาจมีโอกาสในการพัฒนาโรคให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน

ภาวะเชื้อราในช่องคลอด ไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การมีเพศสัมพันธ์เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อรา เชื้อราที่พบได้บ่อยที่สุดคือเชื้อ Candida Albicans รองลงมาคือเชื้อ Candida Grabata เพราะเป็นเชื้อที่สามารถยึดติดกับเซลล์บุช่องคลอดได้ดี

ภาวะเชื้อราในช่องคลอด

สาเหตุภาวะเชื้อราในช่องคลอด

  • การใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งทำลายเชื้อแบคทีเรียดีในช่องคลอด หรือจะไปลดปริมาณแบคทีเรีย แลคโตบาซิลลัส และทำให้ค่าความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอดเสียสมดุล จึงทำให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด
  • ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น จากการตั้งครรภ์ การรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงหรือการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด
  • โรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุม ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมีความเสี่ยงในการติดเชื้อราในช่องคลอดมากขึ้น
  • เกิดความอับชื้นบริเวณช่องคลอด คือ การใส่กางเกงที่คับมาก และอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น
  • การรับประทานยาเสตียรอยด์ เพราะจะลดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • ผู้ป่วยที่มีโรคภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่อง หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • เป็นโรคทางผิวหนังอื่น ๆ นำมาก่อน เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังอื่น ๆ
  • การรับประทานยาบางประเภท
  • มีภาวะโรคอ้วน 
  • การสวนล้างช่องคลอดหรือการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยบริเวณช่องคลอดบ่อย ๆ อาจทำให้เสียสมดุลภายในช่องคลอด
  •  ภาวะที่คู่นอนมีการติดเชื้อรา

อาการภาวะเชื้อราในช่องคลอด

เชื้อราในช่องคลอดส่วนใหญ่ส่งผลให้เกิดอาการได้ตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง แต่บางคนอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แม้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย เช่น

  • เกิดอาการคันอย่างรุนแรงและระคายเคืองที่ปากช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด
  • เกิดผื่นแดงทั้งภายในและภายนอกช่องคลอด อาจเกิดการกระจายไปทั่วบริเวณหัวหน่าว อวัยวะเพศ หรือต้นขา
  • มีอาการบวมแดงบริเวณอวัยวะเพศ และบริเวณปากช่องคลอด
  • มีอาการแสบร้อน โดยเฉพาะในขณะมีเพศสัมพันธ์หรือการปัสสาวะ
  • ตกขาวผิดปกติ อาจมีลักษณะสีขาวข้นคล้ายนมบูด หรือขาวข้นจับตัวเป็นก้อน ไม่มีกลิ่น บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นน้ำใสได้เช่นกัน

ผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้ได้ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงเป็นสัปดาห์ หรืออาจนานเป็นเดือนในบางราย แต่พบได้ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ยังพบว่าบางรายอาจมีอาการของโรคกลับเป็นซ้ำในช่วงก่อนมีประจำเดือนและอาจเป็นมากขึ้นหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ควรรีบพบแพทย์หากเป็นการติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นครั้งแรก อาการที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้นหลังใช้ยารักษา หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย

อาการภาวะติดเชื้อราที่ซ้ำซ้อน มีอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการบวม แดงคันที่รุนแรงจนทำให้เกิดแผลและเจ็บปวดบริเวณช่องคลอด
  • เกิดผื่นแดงทั้งภายในและภายนอกช่องคลอด อาจเกิดการกระจายไปทั่วบริเวณอวัยวะเพศ หรือต้นขา
  • มีการติดเชื้อรา 4 ครั้งหรือมากกว่าต่อปี หรือติดเชื้ออื่นที่ไม่ใช่เชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์
  • ติดเชื้อราสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ Candida Albicans
  • มีการติดเชื้อ ขณะกำลังตั้งครรภ์
  • เป็นโรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุม
  • มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำเพราะโรคบางชนิด เช่น ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

การรักษาเชื้อราในช่องคลอด

การรักษาเชื้อราในช่องคลอดทำได้โดยการใช้ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Drug) เป็นหลัก โดยรูปแบบของยาอาจจะมีทั้งแบบครีม ขี้ผึ้ง ยาเหน็บ หรือยารับประทาน ซึ่งสามารถซื้อยามารักษาได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น

  • ยารับประทาน เช่น ยาเมโทรนิดาโซล  ( metronidazole) 
  • ยาสอดเชื้อราในช่องคลอด  ยาคลอไตรมาโซล (Clotrimazole) ยาไมโคโนโซล (Miconazole) ยา ขนาด 500 มิลลิกรัม สำหรับใช้ครั้งเดียวหรือ 100 มิลลิกรัม สำหรับใช้ 6 วัน 
  • ครีมทาภายนอกบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อลดอาการคัน แต่ยาชนิดนี้จะไม่สามารถรักษาอาการติดเชื้อได้ จึงควรใช้ครีมทาร่วมกับการรับประทานยา หรือใช้ยาสอดในช่องคลอด

การเลือกใช้ยาควรต้องมีการพิจารณาระดับความรุนแรงของโรค และประเภทของเชื้อราที่ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นด้วย โดยระยะเวลาในการใช้ยาจะแตกต่างกันไปตามความแรงของยาและการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษา ซึ่งสามารถปรึกษาเภสัชกร หรือขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อการรักษาและเลือกใช้ยาที่เหมาะสม

การรักษาเชื้อราในช่องคลอด

ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไม่รุนแรงสามารถซื้อยาต้านเชื้อราที่ขายทั่วไป ควบคู่กับการดูแลตนเองได้จากที่บ้านโดย  

  • ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาเชื้อราทาช่องคลอดในช่วงที่มีประจำเดือน ควรเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นแทนการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดเป็นประจำ แต่ควรใช้น้ำสะอาดทำความสะอาดแทน
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจส่งผลให้อาการติดเชื้อแย่ลง
  • หากมีความรู้สึกเจ็บในขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ผลิตภัณฑ์เจลหล่อลื่นที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักในขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดการระคายเคือง
  • หากบริเวณอวัยวะเพศมีอาการบวมและเจ็บ ไม่ควรเกาหรือถูแรง ๆ แต่อาจนั่งแช่น้ำอุ่น เพื่อช่วยบรรเทาอาการ หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่มีอาการ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในกลุ่มดังต่อไปนี้ควรเข้าปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจต้องมีการใช้ยารักษาในปริมาณที่สูงขึ้น และรักษานานต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยป้องกันการกลับมาของโรค 

  • อาการมีความรุนแรงมากขึ้นจนทำให้เกิดอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • ผู้ป่วยอยู่ในช่วงตั้งครรภ์
  • เป็นอาการติดเชื้อครั้งแรก
  • เกิดอาการแพ้
  • อาการของโรคไม่ดีขึ้น
  • มีความกังวลว่าอาการที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

ทั้งนี้ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งภายในระยะเวลา 2 เดือนหลังอาการหายขาดอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกจากโรคอื่นได้

การป้องกันเชื้อราในช่องคลอด

  • ทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดด้วยน้ำสะอาด
  • เลือกสวมใส่กระโปรง กางเกง หรือกางเกงชั้นที่ไม่รัดแน่นมากเกินไป รวมไปถึงเลือกเนื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติที่มีการถ่ายเทของอากาศได้ดี ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความอับชื้นจนเพิ่มจำนวนเชื้อราขึ้นได้โดยง่าย
  • ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความอับชื้นเป็นเวลานาน ควรรีบเปลี่ยนชุดออกทันที เช่น ชุดว่ายน้ำ ชุดออกกำลังกาย
  • รักษาความสะอาดของกางเกงชั้นใน ตากให้แห้งสนิทและโดนแสงแดด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หรือการสวนล้างช่องคลอดบ่อยเกินความจำเป็น
  • ช่วงมีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้อับชื้น
  • รับประทานอาหารประเภทโยเกิร์ตหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งจะช่วยปรับสภาพความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอด  ลดโอกาสเกิดเชื้อราในช่องคลอด
  • ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีความจำเป็น
  • รักษาโรคร่วม เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด

ตรวจภายใน ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก