วัยทอง สำหรับผู้หญิง และผู้ชายจะมีอายุในช่วง 40-59 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างวัยเจริญพันธุ์และวัยผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ความสามารถในการผลิตฮอร์โมนเพศลดน้อยลงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และมีโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ง่าย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น

ผู้หญิงวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน คืออะไร?

ผู้หญิงวัยทอง (Menopause)  หรือ วัยหมดประจำเดือน หรือวัยหมดระดู คือ ภาวะที่ผู้หญิงในวัย 40 – 59 ปี  เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งมาจากการที่รังไข่จะหยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่า เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน หรือทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวรร่วมด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามมา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะก่อนหมดประจำเดือน (perimenopause) เป็นระยะเริ่มของการหมดประจำเดือนทำให้สตรีมีประจำเดือนมาผิดปกติ ร่วมกับมีอาการทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์จะแปรปรวน ซึ่งระยะนี้จะเกิดประมาณ 2-3 ปี
  • ระยะหมดประจำเดือน (menopause) เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่การหมดประจำเดือนมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี
  • ระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause) เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ช่องคลอดตีบแคบ กระดูกพรุน และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆได้ง่าย
ผู้หญิงวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน

สาเหตุผู้หญิงวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน

เกิดจากภาวะที่รังไข่ผลิตฮอร์โมนน้อยลงจนหยุดทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมน มีดังนี้

  • กรรมพันธ์ุ หรือประวัติคนในครอบครัวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็ว
  • ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนในร่างกาย
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ 
  • โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเอง ความผิดปกติของโครโมโซม X
  •  ป่วยโรคต่างๆ เช่น โรคไทรอยด์ โรค SLEโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นต้น
  •  เคยผ่าตัดมดลูก การผ่าตัดเชิงกราน การผ่าตัดเอารังไข่ออก การใช้เคมีบำบัดหรือการใช้รังสีรักษาทางเชิงกราน หรือการใช้ยาที่มีผลทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง
  • การสูบบุหรี่

อาการผู้หญิงวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน

  • ประจำเดือนมาผิดปกติ เดี๋ยวมาบ้าง เดี๋ยวไม่มาบ้าง  แสดงให้เห็นว่าคุณมีฮอร์โมนที่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป  แต่ถ้าอายุยังไม่ถึงแต่ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสโตรโรน ลดลงอาจมีลักษณะของฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้มีขนดก ปวดศีรษะ หรือมีสิวมากกว่าผู้หญิงโดยทั่วไป ซึ่งควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
  • นอนไม่หลับ และ เหนื่อยง่าย เนื่องมาจาก ฮอร์โมนโปรเจสโตรโรนเป็นฮอร์โมนที่ผลิตออกมาจากรังไข่ มีส่วนช่วยให้เรานอนหลับสบาย แต่เมื่อใดก็ตามที่ฮอร์โมนลดต่ำลง หรือหยุดผลิต คุณจะรู้สึกไม่สบายตัว วูบวาบ ส่งผลให้ยากต่อการนอนหลับ จึงทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น สดใส และเหนื่อยง่าย
  • อาการร้อนวูบวาบ (hot flush) โดยเฉพาะบริเวณลำตัวส่วนบน เช่น บริเวณหน้า คอ และอก มักเกิดอาการนานประมาณ 1-5 นาที ร่วมกับ อาการอื่น ได้แก่ เหนื่อยง่า วิตกกังวล ใจสั่นได้ หรือมีเหงื่อออกตอนกลางคืน บางครั้งมีอาการหนาวสั่นโดยไม่มีสาเหตุ  อาการเหล่านี้อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และการนอนหลับยากขึ้นได้  
  • จะมีอารมณ์แปรปรวน ขี้เหวี่ยงได้ง่าย หงุดหงิดง่าย หรือรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า เศร้าแบบไม่มีเหตุผล และมีความวิตกกังวลง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้
  • ขี้หลง ขี้ลืม เนื่องมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน มีความสัมพันธ์กับการควบคุมในสมอง ซึ่งมีผลกระทบต่อสมาธิและระบบความจำ หากร่างกายหยุดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจทำให้หลงๆ ลืมๆ ได้ หรือเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์
  • ความต้องการทางเพศลดลง เพราะเมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอยู่ในระดับต่ำ จะทำให้คุณมีความสนใจหรือมีความต้องการทางเพศลดน้อยลง
  • ช่องคลอดแห้ง  มาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำลง หรือหยุดการผลิต จะทำให้ร่างกายผลิตน้ำหล่อลื่นน้อยลง บางรายจะมีอาการช่องคลอดแห้ง ทำให้ติดติดเชื้อ และคันในช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น อ้วนง่าย  เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนลดน้อยลง คุณจะรู้สึกอยากอาหารมากขึ้น ทำให้ทานมากขึ้น จนทำให้อ้วนน้ำหนักตัวขึ้นอย่างโดยไว
  • โรคกระดูกพรุน
  • โรคไขมันในเลือดสูงเพิ่ม โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมากขึ้น เนื่องจากจากการขาดเอสโตรเจน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่สำคัญในการลดไขมันไม่ดี( LDL)
  • นอนหลับยาก แต่ตื่นเช้า
  • ผิวหนังเหี่ยวแห้ง เหี่ยวไม่เต่งตึง และบาง ขาดความยืดหยุ่น เป็นแผล และกระได้ง่าย
  • ปัญหาของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ หรือมีปัสสาวะเล็ด ส่วนใหญ่เกิดจากการหย่อนยานของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน พบบ่อยเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
  • ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปวดตามกระดูก และข้อ อาการที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่กระดูกเปราะบางลง ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและเจ็บตามข้อ ซึ่งอาการดังกล่าวเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย
  • รูปร่างเปลี่ยน  ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยทองจะมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป กล้ามเนื้อลดลง เอวเริ่มหาย มีไขมันเข้ามาแทนที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ

การรักษาผู้หญิงวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน

  • การให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อลดอาการร้อนวูบวาบ รู้สึกระคายเคือง
  • การให้ยารักษาตามอาการหากมีอาการไม่สุขสบายมาก เช่น ให้ยาแก้ปวดถ้าผู้ป่วยปวดศีรษะหรือปวดข้อ หรือให้ยาทางจิตประสาทหากมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เป็นต้น
  • การปฏิบัติตัวเพื่อลดการเกิดโรคหัวใจและโรคกระดูกพรุน
  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว เต้าหู้ งาดำ ปลาเล็กปลาน้อย นม แคลเซียมที่รับเข้าไปจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูกเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้ ควรควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือดโดยงดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย
  • จำกัดปริมาณคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ โยคะ รำมวยจีน เต้นรำ เดินหรือวิ่งเบาๆ เพื่อลดการกระแทกของข้อเข่า  อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และมีกิจกรรมเพื่อคลายเครียด  ฝึกการควบคุมอารมณ์ให้มีความคิดในทางบวก และทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน
  • ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เช่น ตรวจเช็คความดันโลหิต, ตรวจเลือดหาระดับไขมัน, ตรวจภายในเช็คมะเร็งปากมดลูก, ตรวจหามะเร็งเต้านม (Mammography), ตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density)
    รวมทั้งการตรวจระดับของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง เป็นต้น
  • ในกรณีที่รู้สึกว่าช่วงวัยทองเป็นช่วงที่รบกวนชีวิตประจำวัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อพิจารณารับฮอร์โมนทดแทน ในกรณีที่สตรีวัยทองมีอาการต่างๆ มาก หรือตรวจพบความผิดปกติ เช่น กระดูกบาง หรือกระดูกพรุน และมีความจำเป็นจะต้องได้รับฮอร์โมนเพิ่มเติม แพทย์จะพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนตามความเหมาะสม
การรักษาผู้หญิงวัยทอง

การให้ฮอร์โมนทดแทน 

เพื่อลด และบรรเทาอาการจากการหมดประจำเดือน มีดังนี้

  • การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสโตเจน ใช้สำหรับผู้ที่ยังมีมดลูกอยู่ตามปกติ
  • การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว ใช้กับผู้ที่เคยผ่าตัดเอามดลูกออกไปแล้ว

ข้อดีของฮอร์โมนทดแทน
ช่วยรักษาอาการต่างๆ ของภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน อาการที่สำคัญได้แก่ อาการร้อนวูบวาบและลดการสูญเสียมวลกระดูก จึงช่วยป้องกันภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุน นอกจากนี้ ยังรักษาอาการช่องคลอดแห้งที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ข้อเสียของฮอร์โมนทดแทนที่อาจเกิดขึ้น
อาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด คัดตึงเต้านม น้ำหนักเพิ่ม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ขาบวม เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดดำอุดตัน และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกันนาน 10-15 ปี ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทนไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 ปี

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทดแทน

  • ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ
  • ผู้ที่เกิดลิ่มเลือดที่เท้า
  • ผู้ที่มีประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

ติดต่อเรา

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก