ในวงการแพทย์ มักเรียกยาปฏิชีวนะ ว่า แอนไทไบโอติก หรือ บางคนออกเสียงว่า แอนติไบโอติก (Antibiotics) เป็นคำที่มาจากภาษากรีก หมายถึง ยาต้านสิ่งมีชีวิต (Anti หมายถึง ต่อต้าน Bios หมายถึง ชีวิต) ซึ่งสิ่งมีชีวิตในที่นี้ คือ จุลชีพ หรือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ซึ่งคือ เชื้อโรคนั่นเอง 

ด้วยสรรพคุณของยาปฏิชีวนะที่ช่วยฆ่าเชื้อโรค หลายคนมักเข้าใจผิดว่ายาชนิดนี้อาจรักษาการติดเชื้อได้หลากหลายและอาจเร่งให้หายจากโรคได้ไวขึ้น แท้จริงแล้วการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต จึงควรเลือกใช้ยาแต่ละชนิดให้เหมาะกับเป้าหมายการรักษา โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อความปลอดภัยและใช้ยารักษาจนหายจากการเจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ดื้อยา

ยาปฏิชีวนะ คืออะไร?

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)  หรือเรียกันสั้น ๆ ว่ายาฆ่าเชื้อ  คือ ยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่า หรือยับยั้งการเจริญเติบโต หรือต้านจุลชีพซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นเชื้อแบคทีเรีย บางคนจึงเรียกว่า ยาต้านแบคทีเรีย (แอนติแบคทีเรียล/Antibacterial)  หรือ ยาต้านจุลชีพ(Antimicrobial agent/drug) ในร่างกายของมนุษย์จะมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น เม็ดเลือดขาวที่ใช้ป้อง กันการบุกรุกของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย อาทิ เชื้อวัณโรค เป็นต้น ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เชื้อโรคมีมากจนภูมิต้านทาน หรือเม็ดเลือดขาวสู้ไม่ได้ เราก็จำเป็นต้องหาผู้ช่วย เช่น ยาปฏิชีวนะ เข้ามาเป็นกำลังเสริม 

โดยยาปฏิชีวนะไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด หรือลดไข้ ยาปฏิชีวนะแต่ละประเภทมีกลไกในการกำจัดเชื้อโรคที่แตกต่างกัน บางประเภทสามารถฆ่าแบคทีเรียได้โดยตรง (Bactericidal) ในขณะที่บางประเภททำได้แค่เพียงให้แบคทีเรียหยุดการเพิ่มจำนวน (Bacteriostatic) ดังนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะควรรับประทานจนหมดตามคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น และต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยก่อนสั่งจ่ายยาแก่ผู้ป่วย เช่น ความรุนแรงของการติดเชื้อ การทำงานของตับและไต ผลข้างเคียง ประวัติการแพ้ยาหรืออาการแพ้อื่น ๆ สถานะการตั้งครรภ์หรือการให้นมบุตร เป็นต้น ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดในการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นอย่างมาก ใช้ผิดวิธีโดยมิได้ตั้งใจและก่อให้เกิดผลเสียตามมา ซึ่งบางครั้งอาจถึงกับเสียชีวิตได้ ทั้งจาก การแพ้ยา และเชื้อดื้อยา

ทำความรู้จักกับยาปฏิชีวนะ คืออะไร

ยาปฏิชีวนะรักษาโรคได้อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ มีกระบวนการทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียโดย

  • ทำลายเยื้อหุ้มเซลล์ ซึ่งเป็นเยื่อบางๆที่หุ้มตัวเชื้อแบคทีเรีย (มีหน้าที่แลกเปลี่ยนสารต่างๆระหว่างภายในและภายนอกเซลล์) ส่งผลให้สมดุลในการดำรงชีวิตของเชื้อโรคเสียไปและตายในที่สุด
  • ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ ซึ่งเป็นผนังภายนอกสุดของเซลล์ ที่ห่อหุ้มเยื่อหุ้มเซลล์อีกที (มีหน้าที่ปกป้อง และคงรูปร่างของเซลล์ มักพบกับเซลล์แบคทีเรีย และเซลล์พืช ไม่พบในเซลล์สัตว์) ด้วยกลไกนี้ จะทำให้เชื้อแบคทีเรียต่างๆไม่สามารถแพร่พันธุ์ จึงหยุดการเจริญเติบโต
  • ก่อกวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรมในตัวของเชื้อแบคทีเรีย สารพันธุกรรมที่เรามักคุ้นเคยกัน เรียกว่า ดีเอนเอ(DNA) และ อาร์เอนเอ(RNA) กลไกดังกล่าวจะทำให้เชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถผลิตลูกหลานออกมาทำอันตรายต่อร่างกายคนเราได้อีกต่อไป
  • กระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรีย ปลดปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยตัวเองและตายลงในที่สุด

อนึ่ง ความสามารถในการทำลายเชื้อแบคทีเรียของยาปฏิชีวนะ ไม่ได้ขึ้นกับวิธีการ หรือกลไกทำลายเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับ

  • ความสามารถในการนำ หรือพายาปฏิชีวนะไปยังอวัยวะที่มีการติดเชื้อ หากร่างกายไม่สามารถนำยาไปยังอวัยวะที่มีการติดเชื้อได้ ก็ไม่สามารถทำลายเชื้อโรคได้ ซึ่งการนำยาไปยังอวัยวะเป้าหมาย มีหลายช่องทาง เช่น
    • การกิน
    • การฉีดใต้ผิวหนัง
    • การฉีดเข้ากล้าม(กล้ามเนื้อ)
    • การฉีดเข้าหลอดเลือด (มักเป็นหลอดเลือดดำ)
    • และ การทาที่ผิวหนัง

ยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วยในกรณีใดบ้าง?

ควรใช้ยาปฏิชีวนะรักษาเฉพาะโรค หรืออาการที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรีย หรือปรสิต โดยยาปฏิชีวนะจะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส

ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิตเท่านั้น และใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดเสมอ โดยแพทย์มักจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วยในกรณีดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อไม่รุนแรง แต่มีแนวโน้มหายได้ยากหากไม่ได้ใช้ยา เช่น สิวที่มีการอักเสบค่อนข้างรุนแรง
  • การติดเชื้อไม่รุนแรง แต่อาจแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้หากไม่รักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที เช่น โรคหนองในเทียม โรคพุพอง (Impetigo) เป็นต้น
  • โรคบางชนิดที่ยาปฏิชีวนะจะช่วยฟื้นฟูอาการให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น การติดเชื้อที่ไต เป็นต้น
  • โรคที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เซลล์เนื้อเยื่ออักเ

ทำไมจึงไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะนานๆ หรือ พร่ำเพรื่อ 

ยาปฏิชีวนะแม้จะมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน ตามแต่โรค , ชนิดของเชื้อ  , สภาพร่างกายของคนไข้  แต่การกินปฏิชีวนะนานๆ กินยาพร่ำเพรื่อ กินยาเกินความจำเป็น การกินยาไม่ตรงกับโรค และ การกินยาไม่ครบคอร์ส ทำให้เกิดการดื้อยาได้  

เนื่องจาก การใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องใช้ให้เหมาะสม และตรงกับชนิดของโรคที่จะรักษา ดังนั้นการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะควรต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ หรือขอคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนใช้เสมอ เพราะอาจทำให้เกิดผลเสีย ดังนี้

  • การได้รับยาไม่ครบตามปริมาณ และในขนาดที่เหมาะสม ส่งผลเสียโดยตรง คือ อาการของโรคไม่ดีขึ้น
  • แต่การใช้ยาปฏิชีวนะนานเกินไป หรือใช้มากเกินไปก็มีผลเสีย ผลเสียจากใช้ยาปฏิชีวนะนานๆ หรือ พร่ำเพรื่อ ที่พบบ่อย คือ
    • เชื้อโรคมีพัฒนาการต่อต้านยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้เกิดภาวะดื้อยา (เชื้อดื้อยา) ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด ตัวอย่างการเจ็บป่วยที่รักษาได้ยากขึ้นจากการเกิดภาวะเชื้อดื้อยา ได้แก่ การติดเชื้อที่ผิวหนัง วัณโรค โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัสที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวม หูติดเชื้อ ไซนัสอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
    • เกิดการกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่มีตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้ด้วยภูมิคุ้มกันของตัวเอง ซึ่งมักพบภาวะกดภูมิคุ้มกันกับการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปในเด็ก
    • เกิดการทำลายจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ซึ่งอาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร ส่งผลให้การสร้าง และ/หรือ การดูดซึมวิตามิน บางกลุ่มสูญเสียไป เช่น วิตามินเค เป็นต้น
    • ได้รับผลอันไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง)สูงขึ้น เช่น ท้องเสีย ผื่นคัน ลมพิษ และ โรคหืด
    • รบกวนการทำงานของยากลุ่มอื่น (ปฏิกิริยาระหว่างยา) เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มพร้อมกับยาเม็ดคุมกำเนิด จะทำให้ฤทธิ์ในการคุมกำเนิดลดลง จนอาจเกิดการตั้งครรภ์ตามมาได้
  • เกิดโรคแทรกซ้อน  เพราะยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของเรา เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่นๆ ในตัวเราจึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง โดยผนังลำไส้ที่ถูกทำลายหลุดลอกมากับอุจจาระ อันตรายถึงชีวิต
การแพ้ยาปฏิชีวนะ

ผลข้างเคียงของการใช้ยาปฏิชีวนะ

  • อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับยาชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อใช้ผิดวิธีและหรือใช้อย่างไม่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่จะเกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยอาจรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น
  • การแพ้ยาปฏิชีวนะ  โดยยาปฏิชีวนะเป็นยาที่มีอุบัติการณ์แพ้ยาสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มยาเพนนิซิลลิน และกลุ่มซัลฟา  หากแพ้ไม่มากอาจมีอาการแพ้ ตั้งแต่ ลมพิษ ผื่นคันตามตัว แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หอบ ใจสั่น หน้ามืด ไอ เจ็บคอ ถ้ารุนแรงขึ้นผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก อาการช็อค หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้  หรืออาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงและอาจทำลายผนังลำไส้ใหญ่ได้  ซึ่งถ้ามีการแพ้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่ม โอกาสที่ท่านจะแพ้ยาอื่นในกลุ่มเดียวกันมีสูงมาก บางครั้งยังมีโอกาสแพ้ข้ามกลุ่มอีกด้วย  ดังนั้นถ้าท่านมีประวัติแพ้ยาตัวใดก็ตาม ท่านควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้เสมอ และ โปรดแจ้งประวัติแพ้ยาแก่เภสัชกร , แพทย์ , พยาบาล ทุกครั้งที่ท่านต้องรับยา ไม่ว่าจะเป็นยาฉีดหรือยากิน
  • ยาปฏิชีวนะแต่ละชนิดยังมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์และศึกษาข้อมูลการใช้ยาให้ดีก่อนเสมอ เพื่อให้หายป่วยจากโรคติดเชื้อและเพื่อความปลอดภัยในสุขภาพระยะยาวด้วย

คำแนะนำในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างปลอดภัย

  • ไม่ควรซื้อยากลุ่มนี้รับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น
  • ควรรับประทานให้ครบตามจำนวนวันที่แพทย์ หรือเภสัชกรสั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดใช้ยาเองแม้อาการดีขึ้น เพื่อให้เชื้อโรคถูกกำจัดจนหมดสิ้นและป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำ และเพื่อลดโอกาสการเกิดเชื้อดื้อยา
  • รับประทานยาตามฉลากยาหรือคำแนะนำของแพทย์ให้ครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ เช่น ยาบางชนิดควรรับประทานตอนท้องว่าง หรือไม่ควรรับประทานยาหากดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยาได้ไม่เต็มที่
  • ยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์ค่อนข้างเร็ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่หากพบว่าอาการยังคงอยู่ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบเพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียดและวางแผนรักษาต่อไป
  • ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างที่ควรระวังเมื่อต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ
  • หากลืมรับประทานยา ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้เวลาในรอบถัดไป ให้ผู้ป่วยข้ามไปรับประทานยารอบต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงของยา
  • หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีและผลเสียของยาก่อนใช้ยาเสมอ
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาตัวอื่น ๆ ที่กำลังรับประทานอยู่ เพราะยาปฏิชีวนะบางตัวอาจขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาชนิดอื่น หรือเสริมฤทธิ์ยาชนิดอื่นให้รุนแรงขึ้นได้
  • การใช้ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มพร้อมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง
  • ยาปฏิชีวนะทุกชนิดล้วนมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป และยังสามารถทำลายแบคทีเรียตามธรรมชาติในร่างกายได้ด้วย จึงอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราตามมาได้หากใช้ติดต่อกันนานเกินไป ดังนั้น ก่อนใช้ยาควรสอบถามถึงผลที่อาจเกิดขึ้นหลังจากใช้ยา และควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติหรืออาการป่วยรุนแรงมากกว่าเดิม
  • การใช้ยาปฏิชีวนะต้องพิจารณาจากประเภทของเชื้อแบคทีเรียและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยแต่ละราย จึงไม่ควรรับประทานยาปฏิชีวนะของผู้อื่นหรือยาที่เหลือเก็บไว้ เพราะอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • หากเป็นการติดเชื้อไวรัส เช่น เจ็บคอจากเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ ท้องเสียจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ เพราะไม่มีฤทธิ์ในการรักษา

ติดต่อเรา

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก