โรคมะเร็ง คือ เป็นโรคที่เซลล์ภายในร่างกายของเรามีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติ โดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตได้ เซลล์มะเร็งมักแบ่งตัว อย่างรวดเร็วและควบคุมไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา เซลล์มะเร็งจะลุกลาม และทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบรวมทั้งอวัยวะข้างเคียง หรืออาจแพร่กระจายไปตามหลอดเลือดและ/หรือทางเดินน้ำเหลืองไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป เมื่อมีเซลล์มะเร็งมากขึ้น อวัยวะเหล่านั้นจะถูกทำลายจนไม่สามารถทำงานได้ ท้ายที่สุดผู้ป่วยจะเสียชีวิต

ซึ่งโรคมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในผู้หญิง โดยประมาณ 90% ของมะเร็งเต้านมเกิดจากต่อมน้ำนม และท่อน้ำนม จึงมีโอกาสมากที่จะพบการเกิดมะเร็งในเต้านมทั้งสองข้าง ทั้งในระยะแรกและหลังจากการตรวจวินิจฉัย อย่างไรก็ดีการตรวจพบมะเร็งในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง

โรคมะเร็งเต้านม  คืออะไร?

เต้านม อวัยวะที่แสดงถึงลักษณะทางเพศหญิงอย่างหนึ่ง ประกอบไปด้วยต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม ไขมัน เส้นเลือด ต่อมน้ำเหลือง เต้านมวางอยู่บนกล้ามเนื้อหน้าอกและซี่โครง มีหน้าที่ในการสร้างน้ำนม โดยเต้านมจะขยายขนาดตอบสนองกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งผลิตจากรังไข่เป็นหลัก 

โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer) เกิดเนื่องการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอก โดยหากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะโตขึ้นและกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก่อนที่จะกระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต 

โรคมะเร็งเต้านม

สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม

เกิดจากเซลล์ที่เจริญเติบโตรวดเร็วมากผิดปกติ โดยเฉพาะเซลล์ในท่อน้ำนม และเนื้อเยื่อบุผิวต่อมน้ำนมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดก้อนในเต้านมหรือมะเร็งเต้านม การเจริญเติบโตที่ผิดปกตินี้อาจลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่น ๆ โดยสาเหตุของมะเร็งเต้านมนั้นอาจเกิดมาจากฮอร์โมน การดำเนินชีวิตประจำวัน และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีทั้งมีความเสี่ยงที่ควบคุมได้ เช่น รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย รวมไปถึงการทำกิจกรรมที่ได้รับรังสีในปริมาณสูง หรือการทานยาคุม เป็นต้น  และความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อายุที่มากขึ้นพบมากในหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมีคนในครอบครัวเคยเป็น หรือจากการกลายพันธุ์ของยีน เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นมะเร็งเต้านม

  • เพศหญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากกว่าเพศชาย 
  • อายุ ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • ประวัติของคนในครอบครัวสายตรง เช่น ผู้ที่มีมารดา น้องสาว หรือลูกสาวเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุยังน้อย มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น
  • การกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 (BRCA ย่อมาจาก BReast CAncer gene) มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม และการมีประวัติมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ในครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย
  • มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับเต้านมหรือโรคมะเร็งเต้านม เช่น หากมีประวัติเคยเป็นโรคเต้านมที่ไม่เป็นมะเร็ง (Lobular carcinoma in situ: LCIS) หรือมีภาวะก่อนเป็นมะเร็งในเต้านม (Atypical ductal hyperplasia: ADH) ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งในเต้านมข้างหนึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งในเต้านมอีกข้างเช่นกัน  
  • หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงมากขึ้น
  • การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร หญิงที่มีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี หรือหญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น 
  • ประจำเดือนและวัยทอง การที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปีหรือการที่เข้าสู่วัยทองช้าจะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม 
  • การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน เมื่อรับประทานฮอร์โมนทดแทน ซึ่งประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพื่อรักษาอาการวัยทอง ความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมจะสูงขึ้น และจะลดลงเมื่อเลิกรับประทาน
  • การสัมผัสกับรังสี ผู้ที่สัมผัสกับรังสีตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีความเสี่ยงสูง
  • การดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จะมีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม

อาการโรคมะเร็งเต้านม

ในระยะแรกของโรคนี้จะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ออกมาทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมอาจไม่รู้ตัวว่าตนเองมีโรคร้ายนอกจากจะได้รับการตรวจด้วยเครื่อง Mammogram ส่วนอาการที่มักปรากฏเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติที่เต้านมมีดังนี้

  • คลำพบก้อนเนื้อที่เต้านม หรือใต้รักแร้ 
  • ช่วงไม่มีประจำเดือนมีอาการเจ็บปวดบริเวณเต้านม
  • กดที่เต้านมแล้วผิวหนังบุ๋ม มีน้ำเหลือง หรือมีแผล
  • เต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม หรือเกิดผื่นคันที่เต้านมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
  • ลักษณะรูปร่างเต้านมที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ระยะของโรคมะเร็งเต้านม

  • ระยะที่ 1 เชื้อจะยังไม่กระจาย โดยก้อนมะเร็งเต้านมขนาดไม่เกิน 2 cm และยังไม่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
  • ระยะที่ 2  เชื้ออาจเริ่มแพร่กระจาย โดยก้อนมะเร็งเต้านม 2-5 cm หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
  • ระยะที่ 3 เชื้อจะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง โดยก้อนมะเร็งที่ลุกลามมาถึงผนังหน้าอก หรือมีการแตกเป็นแผล หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ทำให้เนื้อบริเวณรักแร้ติดกับอวัยวะใกล้เคียง ในระยะนี้ก้อนเนื้อจะมีขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 4  เชื้อจะแพร่สู่อวัยวะอื่น ๆ มีการกระจายของมะเร็งออกไปนอกเต้านม และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงแล้ว ได้แก่ การกระจายไป ปอด ตับ สมอง กระดูก ระยะนี้ก้อนเนื้อจะมีขนาดได้หลายขนาด
อาการโรคมะเร็งเต้านม

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม

จะทำเมื่อมีการตรวจพบก้อนผิดปกติ (ทั้งจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือการเอกซเรย์) หรือพบการมีแคลเซียมเป็นจุดที่ผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์ ซึ่งแพทย์จะต้องทำการตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และมีการแพร่กระจายไปที่ใดแล้วหรือไม่ ซึ่งวิธีที่วินิจฉัยได้แม่นยำ คือ วิธีการนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจ แต่หากไม่สามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้ แพทย์จะพิจารณาการตรวจด้วยวิธีอื่น

โดยแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ประกอบ เช่น อายุ การใช้ยาในปัจจุบัน ประเภทของมะเร็ง ระดับความรุนแรงของอาการ และผลการตรวจสอบก่อนหน้านี้ เป็นต้น โดยวิธีการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมสามารถทำได้ดังนี้

  • การตรวจทางรังสีวิทยา
    • การใช้เครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านมเพื่อการวินิจฉัย (diagnostic mammography)
    • การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงถ่ายภาพเต้านม (ultrasound)
    • การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าถ่ายภาพเต้านม (magnetic resonance imaging: MRI)
  • การเก็บชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (biopsy)
  • การตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา
  • การตรวจเลือด
  • การตรวจเพิ่มเติม
    • การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก
    • การตรวจการลุกลามของมะเร็งไปยังกระดูก (bone scan)
    • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography scan: CT scan) เพื่อสร้างภาพ 3 มิติของอวัยวะต่างๆ เพื่อเพิ่มความละเอียดในการตรวจหาการลุกลามของมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งเต้านม

การรักษามะเร็งเต้านมอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีวิธีดังนี้

  • การผ่าตัด แบ่งออกเป็น
    • การผ่าตัดเต้านมทั้งข้าง (Mastectomy)
    • การผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็ง (Lumpectomy) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะต้น
    • การผ่าตัดเต้านมหร้อมกับการสร้างเต้านมใหม่
  • การฉายแสง
  • การรักษาด้วยยา ได้แก่
    • ยาเคมีบำบัด
    • ยามุ่งเป้า
    • ยาต้านฮอร์โมน
    • ยาภูมิคุ้มกันบำบัด

โดยแพทย์อาจใช้การรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้การรักษาหลายๆอย่างร่วมกัน ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค อายุและความแข็งแรงของผู้ป่วย ที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์ เช่น

  • ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง
  • ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง
  • อายุและสุขภาพของผู้ป่วย
  • ตัวรับฮอร์โมนของมะเร็ง
  • ภาวะก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน
  • ปัจจัยที่บ่งบอกความรุนแรงของเนื้องอก เช่น ยีน HER2 (human epidermal growth factor receptor 2)

การป้องกันโรคมะเร็งเต้านม

  • ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง เช่น การตรวจเต้านมหรือแมมโมแกรม เป็นประจำ 
  • เรียนรู้วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง หมั่นสังเกตเต้านมว่ามีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปหรือมีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่
  • จำกัดการใช้ฮอร์โมนทดแทนโดยใช้ปริมาณต่ำที่สุดและระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม
  • รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี พืชตระกูลถั่ว ปลา และน้ำมันที่มีประโยชน์ เช่น น้ำมันมะกอก
  • จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ที่วันละ 1 แก้วหากต้องการดื่ม
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • การป้องกันด้วยการรรับประทานยา รับประทานยายับยั้งเอสโตรเจนเพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม โดยก่อนเริ่มการรับประทานยาดังกล่าวต้องมีการประเมินความเสี่ยงและแนะนำถึงข้อดีข้อเสียของการรับประทานยาดังกล่าว
  • การผ่าตัดป้องกัน หญิงบางรายอาจตัดสินใจที่จะเข้ารับการผ่าตัดป้องกันการเป็นโรคโดยทำการผ่าตัดเต้านมหรือรังไข่ที่ยังไม่เป็นโรคออก เพื่อลดความเสี่ยง

ติดต่อเรา

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก