เมื่อพูดถึงเนื้องอก สำหรับผู้หญิงทุกคนคงรู้สึกไม่ดีกันทั้งนั้น เพราะกลัวว่าอวัยวะภายในร่างกายจะเกิดเนื้องอกขึ้น และสร้างอันตรายให้กับชีวิต โดยเฉพาะ เนื้องอกในมดลูก และเนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก บางคนกังวลถึงขั้นว่าเนื้องอกจะกลายเป็นมะเร็ง  ซึ่งเนื้องอกในมดลูก เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่พบบ่อยของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ สามารถพบได้ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในตัวมดลูก โดยมีขนาดต่างกันไป อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ บางชนิดโตช้า บางชนิดโตเร็ว แต่ที่น่าเป็นกังวลคือผู้หญิงหลายคนมักไม่รู้ว่าตัวเอง อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ เนื่องจากเนื้องอกในมดลูกจะไม่มีอาการแสดงใดๆ บอกชัดเจน มักทราบโดยบังเอิญจากการที่ตรวจสุขภาพประจำปีหรือมาปรึกษาแพทย์ด้วยโรคอื่น ๆ

เนื้องอกในมดลูก คืออะไร?

เนื้องอกในมดลูก (Myoma Uteri หรือ Uterine Fibroid) เป็นโรคของกล้ามเนื้อมดลูก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเซลล์กล้ามเนื้อของมดลูกที่ผิดปกติ อาจเกิดในเนื้อมดลูกหรืออยู่ในโพรงมดลูก หรือโตเป็นก้อนนูนออกมาจากตัวมดลูก และผู้ป่วยอาจคลำพบได้ เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้าย โดยจะพบว่ากลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ก้อนเนื้องอกอาจเกิดเป็น 1 ก้อนใหญ่ หรือก้อนเล็กๆ หลายก้อน และเมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้นจะไปกดทับอวัยวะบริเวณใกล้เคียงจนส่งผลแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา แต่ก็มีในบางรายที่เนื้องอกมดลูกไม่โตขึ้น และไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ การเปลี่ยนแปลงขนาดนี้มักขึ้นอยู่กับสภาวะฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ตั้งครรภ์หรือภาวะหมดประจำเดือน ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป หรือในวัยเจริญพันธุ์

เนื้องอกในมดลูก

เนื้องอกในมดลูก มีกี่แบบ

เนื้องอกมดลูกแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • เนื้องอกในกล้ามเนื้อ (Intramural fibroid) คือ การเติบโตของก้อนเนื้องอกบริเวณภายในกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบก้อนเนื้องอกได้บ่อยที่สุด
  • เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserosal fibroid) คือ เนื้องอกที่อยู่ในตำแหน่งที่เมื่อเนื้องอกโตขึ้นแล้วดันออกมาที่ผิวด้านนอกมดลูก
  • เนื้องอกที่โพรงมดลูก (Submucosal fibroid) คือ เนื้องอกที่อยู่ในตำแหน่งที่เมื่อเนื้องอกโตขึ้นแล้วดันเข้าไปในโพรงมดลูก โดยยังอยู่ใต้เยื่อบุมดลูก ซึ่งอาจทำให้โพรงมดลูกเบี้ยวไปจากเดิมได้

สาเหตุเนื้องอกในมดลูก

ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าเนื้องอกน่าจะเกิดมาจากเซลล์เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อของมดลูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดที่แบ่งตัวมากผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อ สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่

  • เชื้อชาติ สตรีผิวดำมีแนวโน้มที่จะมีเนื้องอกมดลูกได้บ่อยมากกว่าสตรีเชื้อชาติอื่น มักพบตั้งแต่ในวัยเด็ก ก้อนเนื้องอกมีจำนวนมาก มีขนาดใหญ่ และทำให้เกิดอาการผิดปกติได้บ่อยกว่าชนชาติอื่น ๆ
  • เกิดจากกรรมพันธุ์ ลักษณะยีนของก้อนเนื้องอกต่างไปจากเซลล์ปกติ ทำให้พบเนื้องอกของมดลูกได้บ่อย ในสตรีที่มีสมาชิกในครอบครัวมีเนื้องอกมดลุก หรือทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นเนื้องอกได้มากยิ่งขึ้น
  • ฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของโครงสร้างและเนื้อเยื่อมดลูกปกติและเนื้องอกมดลูก ในก้อนเนื้องอกจะมีค่าฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนสูงกว่าเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกปกติ การมีประจำเดือนเร็วขณะที่อายุน้อย (มีการทำงานของฮอร์โมนเร็ว) จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่ง ในขณะที่ วัยหมดประจำเดือนที่การผลิตฮอร์โมนลดลง เนื้องอกจึงมักมีขนาดเล็กลง หรือฝ่อตัวเล็กลง
  • การใช้ยา เช่น ยาคุมกำเนิดจะมีฮอร์โมนบางตัวที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเพิ่ม หรือกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกในมดลูกได้
  • ปัจจัยอื่น ๆ เนื้องอกอาจถูกกระตุ้นโดยสารต่าง ๆ เช่น สารกระตุ้นการเจริญเติบโต (growth factor) ที่พบในสารภายนอกเซลล์ (extracellular matrix; ECM) ซึ่งมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของเซลล์ซึ่งช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
  • ภาวะสารอาหาร เช่น ภาวะอ้วน การขาดวิตามินดี การบริโภคเนื้อแดงเป็นประจำ การบริโภคผัก ผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์จากนมน้อย หรือดื่มสุราเป็นประจำก็อาจเป็นสาเหตุได้เช่นกัน

อาการเนื้องอกในมดลูก

โดยปกติแล้วเนื้องอกมดลูกขนาดเล็กมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ อย่างไรก็ตาม สตรีที่มีเนื้องอกมดลูกอาจมีอาการต่าง ๆ ได้ขึ้นกับขนาด จำนวนและตำแหน่งของเนื้องอกนั้น ๆ  ได้แก่

  • คลำพบก้อน แม้อาจไม่มีอาการ แต่อาจคลำพบก้อนบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้อง เนื่องจากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ 
  • ปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ เพราะเนื้องอกไปเบียดโพรงมดลูก 
  • ปวดท้องแบบหน่วง ๆ ทั้งที่ไม่มีประจำเดือน 
  • มีเลือดออกมากระหว่างรอบเดือน มีลิ่มเลือดปนเป็นก้อน หรือประจำเดือนมานานกว่า 2 สัปดาห์ หรือ มีเลือดประจำเดือนออกมาก หรือมานาน หรือมีเลือดประจำเดือนออกมากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มีอาการซีดโดยไม่รู้ตัว
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะไม่สุด หรือปัสสาวะลำบาก เพราะเนื้องอกไปกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ
  •  ท้องผูก อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ต่อกับทวารหนัก หรือกดบริเวณทวารหนัก อาจมีอาการท้องอืด รู้สึกท้องโตขึ้นเรื่อยๆ
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ทั้งที่ไม่เคยเจ็บ
  •  รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เป็นลมบ่อย
  • ปวดหลังหรือปวดขา
  • มีบุตรยากและแท้งบุตร เนื่องจากก้อนเนื้องอกยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก เกิดการอุดตันของท่อนำไข่หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน

การตรวจวินิจฉัยเนื้องอกในมดลูก

ระหว่างการตรวจภายใน แพทย์จะตรวจดูและคลำปากมดลูก  มดลูกและปีกมดลูก  ในกรณีที่สงสัยว่ามีความผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตราซาวนด์ ภาพจากอัลตราซาวนด์สามารถช่วยยืนยันว่ามีเนื้องอก ระบุตำแหน่งและขนาดของเนื้องอก การตรวจสามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกโดยใช้หัวตรวจวางบนหน้าท้องหรือใส่ผ่านช่องคลอดทางหรือผ่านทางทวารหนัก
  • การตรวจทางรังสีวิทยา แพทย์อาจตรวจทางรังสีวิทยาอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับก้อนเนื้องอกและเพื่อวางแผนการรักษา
    • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่วยให้ได้ภาพที่ละเอียด แพทย์สามารถเห็นจำนวน ขนาด ตำแหน่ง ลักษณะของก้อนและหลอดเลือดที่มาเลี้ยงก้อน สิ่งตรวจพบนี้จะช่วยให้เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีที่ต้องการมีบุตร สตรีวัยหมดหรือใกล้หมดประจำเดือนหรือสตรีที่มีเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่
    • การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก เป็นการตรวจอัลตราซาวนด์หลังจากที่ฉีดน้ำเกลือเข้าไปยังมดลูกเพื่อให้เห็นภาพเยื่อบุโพรงมดลูกและเนื้องอกโพรงมดลูกได้ดีขึ้นในสตรีที่ประจำเดือนมามากหรือพยายามมีบุตร
    • การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก เป็นการส่องกล้องเข้าไปในมดลูกหลังจากฉีดน้ำเกลือเพื่อขยายโพรงมดลูก ตรวจดูเยื่อบุโพรงมดลูกและประเมินรูที่ท่อรังไข่เปิดเข้าสู่โพรงมดลูก
    • การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ เป็นการฉีดสีเพื่อประเมินโพรงมดลูกและท่อรังไข่ และหารอยโรคหรือเนื้องอกโพรงมดลูกและตรวจว่าท่อรังไข่อุดตันหรือไม่ แพทย์มักแนะนำในรายที่มีปัญหาเรื่องภาวะมีบุตรยาก
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count; CBC) เพื่อประเมินภาวะซีดหรือโลหิตจางจากการเสียเลือดจากการที่ประจำเดือนมามากผิดปกติ การตรวจหาความผิดปกติของระบบเลือด หรือการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับภาวะเลือดออก
การรักษาเนื้องอกในมดลูก

การรักษาเนื้องอกในมดลูก

การใช้ยา แพทย์อาจให้ยารวมถึงฮอร์โมนเพื่อลดอาการที่เกิดจากเนื้องอกมดลูก เช่น เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออาการประจำเดือนมามาก เนื้องอกอาจมีขนาดเล็กลง แต่จะไม่หายไปเอง ยาที่ใช้ เช่น

ยาฮอร์โมน

  • ฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (GnRH) ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (GnRH) จะยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ทำให้ร่างกายเกิดภาวะคล้ายวัยหมดประจำเดือนชั่วคราว อาจมีการให้ยาเพื่อลดขนาดเนื้องอกก่อนทำการผ่าตัด
    ข้อเสียของยา คือ อาจทำให้รู้สึกร้อนวูบวาบ และกระดูกพรุนในกรณีที่ใช้ยาต่อเนื่องนานเกิน 6 เดือน หากเลิกใช้ยา เนื้องอกมดลูกอาจโตกลับขึ้นมาได้อีก
  • ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดที่มีโปรเจสเตอโรน การใช้ห่วงอนามัยที่มีโปรเจสเตอโรนจะช่วยบรรเทาอาการประจำเดือนมามากเนื่องจากเนื้องอกมดลูก อย่างไรก็ตาม เนื้องอกจะไม่เล็กลงหรือหายไป
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ยาจะช่วยบรรเทาอาการประจำเดือนมามาก แต่จะไม่ทำให้เนื้องอกมดลูกเล็กลง
  • ยาอื่น ๆ กรดทราเนเซามิค (tranexamic acid) จะยับยั้งการสลายตัวของลิ่มเลือดและยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมน สามารถใช้ในวันที่ประจำเดือนมามากเพื่อช่วยลดปริมาณประจำเดือน และบรรเทาอาการปวดท้อง หากประจำเดือนมามากและมีภาวะซีด ควรรับประทานวิตามินและธาตุเหล็ก

การใช้อัลตราซาวด์นำทางโดยภาพคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI-FUS) 

เป็นการรักษาเนื้องอกแบบไม่ต้องผ่าตัดเพื่อรักษามดลูกไว้ สามารถทำการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ โดยจะใช้เครื่อง MRI ตรวจเพื่อระบุตำแหน่งและขอบเขตของเนื้องอก แล้วจึงใช้ห้วอัลตราซาวด์ส่งคลื่นเสียงพลังงานสูงสร้างความร้อนไปทำลายเนื้องอก

การส่องกล้องทางโพรงมดลูก 

ใช้รักษาเนื้องอกมดลูกที่อยู่ในโพรงมดลูก โดยจะสอดกล้องผ่านช่องคลอดไปที่ปากมดลูกเข้าสู่โพรงมดลูก และใช้ลวดไฟฟ้าในการตัดเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกออก โดยที่ไม่ต้องตัดมดลูกออก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ยังต้องการมีบุตร

การฉีดสารเพื่ออุดเส้นเลือดให้เนื้องอกฝ่อ

เป็นวิธีการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดโดยใช้เทคนิคทางรังสีวิทยา ใช้กับเนื้องอกที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ทำโดยสอดสายผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบไปจนถึงเนื้องอก แล้วฉีดสารที่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน ก้อนเนื้องอกที่ขาดเลือดจะฝ่อลงไปได้เอง

การผ่าตัดนำเฉพาะเนื้องอกออก

ใช้กับผู้ป่วยที่ยังต้องการจะมีบุตรในอนาคต โดยมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดส่องกล้องทางช่องคลอด ผ่าตัดแบบเปิดผนังท้องแบบแผลเล็ก วิธีนี้อาจจะไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากความรุนแรงของโรคว่าจำเป็นต้องตัดมดลูกออกหรือไม่
 

การผ่าตัดนำมดลูกออก

เป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งจะพิจารณาใช้ในกรณีมดลูกมีอาการรุนแรงหรือความผิดปกติมาก และผู้ป่วยไม่ต้องการมีบุตรเพิ่มในอนาคต การผ่าตัดทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดเอามดลูกออกทางช่องคลอด การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง การผ่าตัดมดลูกเปิดผนังหน้าท้องแผลเล็ก และการผ่าตัดมดลูกแบบเปิดแผลหน้าท้องแบบเดิม และยังเป็นวิธีรักษาที่หายขาด เพราะเป็นการตัดมดลูกออกไป ซึ่งมักจะใช้ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้อาจใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือไม่ต้องการตั้งครรภ์อีก

การป้องกันเนื้องอกในมดลูก

  • ตรวจคัดกรอง ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ซึ่งสามารถตรวจได้แม้จะยังไม่มีอาการ
    ปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืองดสูบบุหรี่ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เพราะการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากจะทำให้ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น 
  • ควบคุมน้ำหนักตัว โรคนี้มักพบกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินจึงควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ หมั่นออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายได้
  • หากพบความผิดปกติ เช่น คลำพบก้อนเนื้อ ประจำเดือนมาผิดปกติ ปวดท้องประจำเดือนมาก ควรรีบเข้าพบสูตินรีแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอันตรายอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้

ติดต่อเรา

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก