โรคภูมิแพ้เป็นโรคยอดฮิตที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย เป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารกระตุ้นที่ในภาวะปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลันจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายพร้อมกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ภาวะช็อกและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคภูมิแพ้รุนแรง ต่างจากโรคภูมิแพ้อื่น ๆ อย่างไร?

อาการภูมิแพ้โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นที่ระบบใดระบบหนึ่ง และมักไม่มีอาการที่รุนแรง แต่อาการภูมิแพ้รุนแรง จะเกิดจากอาการมากกว่า 1 ระบบ และมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยอาการภูมิแพ้รุนแรงจะมีโอกาสเกิดซ้ำ 21 – 43 % ซึ่งอย่างน้อย 1 ใน 3  จะเกิดซ้ำจากสารก่อภูมิแพ้เดิม

โรคภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน คืออะไร?

โรคภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) คือ อาการภูมิแพ้ที่มีปฏิกิริยารุนแรงอย่างเฉียบพลัน เมื่อร่างกายได้รับสารกระตุ้นบางอย่าง เช่น อาหารหรือยาบางชนิด แมลงกัดต่อย หรือสารอื่น ๆ เนื่องจากระบบภูมิต้านทานของบุคคลนั้นไวต่อสารกระตุ้นดังกล่าวมากกว่าคนปกติ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายพร้อมกัน นอกจากอาการผื่นลมพิษทั่วไป เช่น ระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการแสดงเป็นหอบเหนื่อย เขียว อันเนื่องมาจากมีหลอดลมตีบ ในส่วนของระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือในเด็กเล็กอาจจะมีอาการซึมลงหรือหงุดหงิดไม่สบายตัวได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก  หรือเสียชีวิตได้ โดยมากมักเกิดภายใน 5-30 นาทีหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ หรือไม่เกิน 2 ชั่วโมง หลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ชนิดรับประทาน

โรคภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน

สาเหตุโรคภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน

โดยทั่วไปร่างกายจะมีกลไกป้องกันสิ่งแปลกปลอมด้วยการสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibody) เพื่อช่วยกำจัดสารต่าง ๆ ที่คาดว่าเป็นอันตราย จากนั้นเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะตอบสนองด้วยการหลั่งสารฮิสตามีนและสารเคมีตัวอื่น ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้หรืออาการแพ้ตามมา แต่ระบบภูมิคุ้มกันในบางคนนั้นมีความไวต่อสารเหล่านี้มากกว่าคนอื่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลันแบบ Anaphylaxis ได้ เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มีอาการแพ้สิ่งต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป

สิ่งกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis ที่พบได้ มีดังนี้

  • แพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว อาหารทะเล นม ผลไม้ ธัญพืช  แป้งสาลี ไข่ขาว เป็นต้น
  • แพ้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแอสไพริน ยาแก้ปวด ยากลุ่มเอ็นเสด ยากันชัก รวมไปถึงสารหรือยาที่ฉีดเข้าทางเส้นเลือดก่อนการเอกซเรย์บางชนิด
  • แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง ตัวต่อ แตน มดคันไฟ
  • ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยางของพืช เช่น ถุงมือยาง ถุงยาง ลูกโป่ง เป็นต้น
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้น้อย เช่น แพ้เหงื่อจากการออกกำลังกาย อาการแพ้เมื่อออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อน หนาว หรือชื้น ละอองเกสรดอกไม้ สารกันบูดในอาหาร เป็นต้น

ปฏิกิริยาการแพ้แบบ Anaphylaxis ในเด็กมีสาเหตุมาจากการแพ้อาหารเป็นหลัก ส่วนในผู้ใหญ่มักเกิดจากการแพ้ยาและสาเหตุอื่น ๆ ต่างกันออกไป และมีบางรายที่แพทย์อาจตรวจไม่พบสาเหตุ ทั้งนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงเกิดปฏิกิริยาแพ้ชนิดนี้ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้คนในครอบครัวหรือตนเองเคยมีปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis ผู้ป่วยโรคหืดหอบ หรือโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว

อาการโรคภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน

เป็นอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่สุดและเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการที่เกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ มีอาการคัน ผิวหนังแดง หรือซีด (rash, itchy skin)
  • วิงเวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม (dizziness, confusion, fainting)
  • คลื่นไส้ อาเจียน (vomiting, nausea)
  • ปวดท้อง ท้องเสีย (diarrhea)
  • หายใจติดขัด (trouble breathing)
  • หายใจอาจมีเสียงดังหวีด ๆ (wheezing)
  • ความดันโลหิตลดต่ำลง (Low blood pressure)
  • ลิ้น ปาก หรือคอบวม (facial swelling) หายใจติดขัดและอาจมีเสียงดังหวีด ๆ
  • รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในลำคอ กลืนลำบาก (difficulty swallowing)
  • แน่นหน้าอก ใจสั่น (chest tightness, shake)
  • ชีพจรอ่อน หัวใจเต้นเร็ว (low pulse, rapid heart beat)
  • หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (cardiac arrest)
  • ไอ จาม น้ำมูกไหล (coughing)
  • รู้สึกปวดคล้ายเข็มทิ่มตามมือ เท้า ปาก หรือหนังศีรษะ
  • พูดไม่ชัด ตะกุกตะกัก ไม่รู้เรื่อง (slurred speech)
  • บางรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจเสี่ยงต่อภาวะช็อก  (shock) ซึ่งสังเกตได้จากอาการหายใจลำบาก ไม่มีแรง ชีพจรเต้นถี่และเบา มีอาการสับสน มึนงง หรือหมดสติ

อาการข้างต้นมักเกิดขึ้นพร้อมกันและกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ส่วนใหญ่จะเกิดหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ภายในไม่กี่นาที แต่บางครั้งอาจนานเป็นชั่วโมง หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis ควรพาไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แม้กระทั่งในรายที่แพทย์สั่งให้พกยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) สำหรับฉีดลดอาการแพ้ และมีอาการดีขึ้นหลังฉีดยาแล้วก็ตาม

การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน

แพทย์จะต้องวินิจฉัยและให้การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis) โดยเร็ว เพราะการรักษาที่ล่าช้าอาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อกและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

โดยในเบื้องต้นจะซักประวัติและตรวจดูอาการผิดปกติ แพทย์อาจสอบถามถึงรายละเอียดก่อนเกิดอาการแพ้ เช่น การสัมผัสสารที่อาจก่อการแพ้ หรืออาหารที่กิน ความรุนแรงของอาการแพ้ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงประวัติการแพ้ยา อาหาร และสารอื่น ๆ เพื่อประเมินสาเหตุของอาการแพ้

ส่วนใหญ่การวินิจฉัยจะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยในขณะที่เกิดปฏิกิริยาแพ้เป็นหลัก แต่เพื่อยืนยันว่าอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากภาวะอื่นที่อาจคล้ายคลึงกัน แพทย์อาจใช้วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น

  • การเจาะเลือดตรวจวัดระดับเอนไซม์ Tryptase ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ชั่วโมง หลังได้รับสารก่ออาการแพ้อย่างรุนแรง
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือการตรวจเลือดเพื่อระบุสิ่งกระตุ้นที่เป็นตัวทำให้เกิดอาการแพ้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง หรือ Anaphylaxis เป็นการแพ้ที่รุนแรงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เบื้องต้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาพบแพทย์ แพทย์จะให้ยารักษาอาการฉับพลันทันทีก่อน หลังจากนั้นจะพิจารณาหาสาเหตุของอาการภูมิแพ้ฉับพลันต่อในขั้นตอนถัดไป ในกรณีที่ต้องการตรวจวินิจฉัยด้วยการทดสอบทางผิวหนัง แพทย์จะนัดให้มาทดสอบอีกครั้งประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อได้ผลการตรวจที่แม่นยำต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนโรคภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน

เป็นอาการแพ้รุนแรงที่ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะหลายส่วน และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา เช่น

  • สมองได้รับความเสียหาย
  • ไตวาย
  • ภาวะช็อกจากโรคหัวใจ (Cardiogenic Shock) ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ทัน
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง อาจเกิดความเสียหายต่อปอดหากไม่ได้รับออกซิเจนหลังเกิดอาการแพ้ทันที หรือในผู้ป่วยโรคเอ็มเอสอาจส่งผลให้มีอาการแย่ลง
  • ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากหัวใจอาจหยุดเต้นและขาดอากาศหายใจ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การรักษาโรคภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เมื่อเริ่มมีอาการเข้าข่ายการแพ้แบบ Anaphylaxis ควรทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่หายใจลำบากแต่ยังรู้สึกตัวดี ควรพยุงให้นั่งบนเก้าอี้ หากมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม ควรให้นอนราบกับพื้นและยกเท้าสูง
  • ตรวจดูชีพจรและการหายใจ หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่มีการตอบสนอง หรือหยุดหายใจ ควรได้รับการปั๊มหัวใจแต่ต้องทำโดยผู้ที่ผ่านการฝึกฝนมาเท่านั้น หรือให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามอาการ
  • สำหรับผู้ป่วยที่ทราบว่าตนเองมีอาการแพ้และมียาอิพิเนฟริน (Epinephrine)ติดตัว ให้ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อผู้ป่วย
  • รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

การรักษาโดยแพทย์
การรักษาหลักยังคงเป็นการใช้ยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ร่วมกับประเมินอาการของผู้ป่วยตามหลัก ABC ส่วนวิธีรักษาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับอาการแพ้และการตอบสนองของผู้ป่วย

  • ขั้นแรก แพทย์จะให้ยาอิพิเนฟรินแก่ผู้ป่วย ซึ่งปกติจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นขา และประเมินอาการของผู้ป่วยตามหลัก ABC ดังนี้
    • ประเมินทางเดินหายใจ (A: Airway) แพทย์จะตรวจทางเดินหายใจของผู้ป่วยให้โล่งโดยขจัดสิ่งที่อาจกีดขวางทางเดินหายใจ เช่น สิ่งแปลกปลอม อาหาร หรือน้ำที่อยู่ในปากออก รวมทั้งตรวจดูความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย บางกรณีอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจทันทีหากประเมินแล้วพบว่ามีภาวะทางเดินหายใจอุดตัน
    • ประเมินการหายใจ (B: Breathing) เป็นการตรวจดูการหายใจของผู้ป่วยว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ บางรายอาจต้องได้รับออกซิเจนผ่านทางหน้ากากหรือเครื่องช่วยหายใจ
    • ประเมินระบบไหลเวียนโลหิต (C: Circulation) อาจมีการให้สารน้ำหรือยาทางเส้นเลือด ตามอาการของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ระบบการไหลเวียนเลือดและความดันเลือดกลับคืนสภาพปกติ เช่น ยาแก้แพ้ น้ำเกลือ ยาไฮโดรคอร์ติโซน เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอาจได้รับยาสำหรับรักษาโรคนั้น ๆ ด้วย เช่น ยาพ่นขยายหลอดลมหรือยาซาลบูทามอลสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด
  • ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและตรวจดูการทำงานของระบบต่าง ๆ เช่น วัดความดันโลหิต วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด เป็นต้น ทั้งนี้ ระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการตอบสนองของผู้ป่วย ผู้ป่วยเด็กมักต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าผู้ใหญ่ เพื่อเฝ้าดูอาการจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย
  • แผนการรักษาในระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาแพ้ซ้ำ แพทย์จะแนะนำให้เลี่ยงสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรงกว่าครั้งแรก

การป้องกันโรคภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน

  • หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงอย่างจริงจัง เพราะการแพ้ลักษณะนี้เป็นการแพ้ที่อันตรายถึงชีวิตได้  เช่น
    • ในกรณีแพ้อาหารก็ควรอ่านฉลากอาหารหรือสอบถามจากผู้ขายก่อนทุกครั้งว่ามีส่วนประกอบของสารที่แพ้หรือไม่
    • หากแพ้แมลงควรสวมเสื้อผ้าปกปิดผิวหนังมิดชิด ไม่เดินเท้าเปล่าในสนามหญ้า
  • ในรายที่มีประวัติเป็นภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง  ควรพกยาอิพิเนฟรินติดตัวเสมอ เพื่อใช้รักษากรณีฉุกเฉิน เกิดอาการฉับพลันติดตัวตลอดเวลา รวมถึงได้รับคำแนะนำเกี่ยววิธีการใช้อย่างถูกต้อง
  • นัดติดตามอาการภูมิแพ้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อตรวจเช็กในเรื่องยา และสอบถามถึงอาการเกิดซ้ำของโรค และพิจารณาการตรวจเลือดซ้ำ เพื่อตรวจสอบว่าเด็กหายจากอาการภูมิแพ้หรือยัง ถ้ามีแนวโน้มการหายจากภูมิแพ้ จะทำการทดสอบการแพ้ เช่น การแพ้อาหาร หรือยา แพทย์จะให้ทดสอบโดยการรับประทานอาหารที่แพ้ซึ่งทำในโรงพยาบาล เพื่อเป็นการยืนยันการหายจากโรค เพื่อให้เด็กกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ต่อไป
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือต้องใช้ยารักษาโรค ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อ่านฉลากยาอย่างถี่ถ้วน และตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้ทุกครั้ง หากพบความผิดปกติหรือมีอาการแย่ลงหลังรับประทานยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงควรพกสมุดหรือป้ายเล็ก ๆ ที่ระบุข้อมูลการแพ้ ซึ่งทางโรงพยาบาลจะออกให้ หรือบางคนอาจสวมข้อมือบันทึกข้อมูลทางสุขภาพของตนเอง นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพกยาอิพิเนฟรินแบบฉีดฉุกเฉินหรือยารูปแบบอื่นติดตัวไว้เสมอ

การตรวจโรคภูมิแพ้ ที่ภูเก็ตได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก