โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นโรคใกล้ตัว ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยมีโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม เริม ซิฟิลิส หูดหงอนไก่ หรือติดเชื้อเอชไอวีจนพัฒนาไปสู่เอดส์ เพราะผู้ติดเชื้อบางรายก็ไม่แสดงอาการของโรคให้เห็นชัดเจน การป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องยาก และยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคอาจรักษาให้หายได้ แต่บางโรคก็รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต  ดังนั้นการใช้ถุงยางอนามัยอาจเป็นทางเลือกที่ดีในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แม้ไม่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม เนื่องจากเชื้ออาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะบริเวณอื่นได้ขณะทำกิจกรรมทางเพศ เช่น ทางปาก หรือทางทวารหนัก

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เรื่องที่ผู้ชายควรรู้
  • เอชไอวี  (HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่อันตราย เพราะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ เชื้อเอชไอวีติดต่อกันผ่านการรับของเหลวอย่างเลือด น้ำอสุจิ แต่ไม่สามารถแพร่ผ่านทางน้ำลายได้ ซึ่งการติดเชื้ออาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อทางช่องคลอดหรือทวารหนักโดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ โดยผู้ที่ติดเชื้อในระยะแรกมักไม่ค่อยปรากฏอาการผิดปกติ แต่บางรายอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า น้ำหนักตัวลด ท้องเสีย และมีไข้ประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ หากไม่ได้รับการรักษาหรือยาต้านไวรัส การติดเชื้อจะพัฒนาไปสู่ภาวะเอดส์ในระยะเวลาประมาณ 10 ปี ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น ภาวะติดเชื้อ สมองเสื่อม และโรคมะเร็ง จนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยถึงชีวิตในที่สุด แม้ปัจจุบันยังไม่มียารักษาใดสามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีได้ แต่มีการคิดค้นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพช่วยชะลอการพัฒนาของโรค และช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้นหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันการณ์

  • โรคเริม  (Herpes simplex) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ติดต่อได้ง่าย เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) โดยเชื้อดังกล่าวติดต่อกันได้จากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีแผลพุพองและตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ถุงอัณฑะ บั้นท้าย ทวารหนัก ต้นขา และภายในท่อปัสสาวะ แม้อาการของโรคเริมจะบรรเทาลง แต่เชื้อไวรัสนี้จะยังคงอยู่ในร่างกายของผู้ติดเชื้อไปตลอดชีวิต และอาการของโรคอาจปรากฏขึ้นอีกครั้งหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนต่อมา แต่จะรุนแรงน้อยกว่าและหายเร็วกว่าครั้งแรก เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ความถี่ในการแสดงอาการของโรคจะน้อยลงเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัสจะช่วยลดระดับความรุนแรงและควบคุมอาการของโรคได้

  • โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคซิฟิลิส เนื่องจากในบางระยะ อาการป่วยอาจไม่ปรากฏ โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ แต่จะเกิดแผลเปื่อยบริเวณที่ได้รับเชื้อ เช่น อวัยวะเพศ หรือริมฝีปาก และอาการจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 6 สัปดาห์ จากนั้น เชื้อจะเริ่มแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ในระยะที่ 2 ผู้ป่วยมีผื่นเป็นตุ่มนูนคล้ายหูดขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ ขาหนีบ ทวารหนัก และภายในช่องปาก บางรายอาจเจ็บคอ มีปื้นเป็นแผ่นสีขาวในปาก เป็นไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด และผมร่วง โดยอาการจะหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์ และจะไม่แสดงอาการของโรคนานหลายปี หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคจะพัฒนาจนถึงระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายที่อาจก่อให้เกิดภาวะร้ายแรง เช่น ตาบอด หูหนวก ไร้สมรรถภาพทางเพศ สมองเสื่อม อัมพาต มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
    อย่างไรก็ตาม โรคซิฟิลิสรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะการฉีดยาเพนิซิลลิน ซึ่งการรักษาโรคซิฟิลิสอย่างถูกต้องเหมาะสมจะช่วยให้โรคไม่พัฒนาไปสู่ระยะของโรคที่รุนแรงขึ้น

  • โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการติดเชื้อแบคทีเรีย หนองในแท้อาจทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบหรือหนังหุ้มปลายองคชาตอักเสบได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะ อีกทั้งอาจมีมูกสีขาว เหลือง หรือเขียวไหลออกมาจากส่วนปลายองคชาต อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการแสดงของโรค แต่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ทั้งนี้ อาการอาจปรากฏหลังได้รับเชื้อมา 4-8 วัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจติดเชื้อหนองในแท้ที่อวัยวะบริเวณอื่น ๆ ได้ เช่น ทวารหนัก ลำคอ และดวงตา หนองในแท้รักษาให้หายดีได้ด้วยการฉีดยาร่วมกับการรับประทานยาปฏิชีวนะ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เชื้อแบคทีเรียอาจแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้มีผดผื่นขึ้นตามผิวหนัง ปวดตามข้อต่อ เกิดภาวะมีบุตรยาก และอาจก่อปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาได้

  • โรคหนองในเทียม (Chlamydia)  เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อแบคทีเรียที่พบมากในวัยหนุ่มสาว โดยเชื้อมักแพร่ติดต่อกันทางช่องคลอด ทวารหนัก ลำคอ และดวงตา ผู้ชายที่ป่วยด้วยโรคนี้มักมีมูกใสหรือขาวขุ่นไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศ และรู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม มีผู้ชายประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะแสดงอาการดังกล่าวออกมา จึงทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่รู้ว่าตนกำลังติดเชื้อ
    หนองในเทียมสามารถรักษาและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ยาซิโธรมัยซิน ดอกซีไซคลีน อิริโทรมัยซิน หรืออะซิโทรมัยซิน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ป่วยหรือคู่นอนจะได้รับการรักษาจนหายดีแล้วก็ตาม ผู้ป่วยควรไปตรวจเลือดซ้ำอีกครั้งหลังรับการรักษาภายใน 3 เดือน เนื่องจากหนองในเทียมกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

  • โรคหูดหงอนไก่ (Genital warts)  เป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนังเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV Virus) ซึ่งติดต่อกันผ่านกิจกรรมทางเพศ เป็น 1 ในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย โดยผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันออกไปตามสายพันธ์ุของเชื้อ บางสายพันธ์ุอาจก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง และมะเร็งอวัยะเพศหรือมะเร็งทวารหนักในเพศชาย เชื้อเอชพีวีอาจไม่พัฒนาเป็นโรคดังกล่าวเพราะภูมิคุ้มกันร่างกายอาจกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ออกไปได้เอง ทั้งนี้ ผู้ชายที่เป็นโรคหูดหงอนไก่จะมีติ่งเนื้อปรากฏที่อวัยวะเพศหรือทวารหนัก และหูดอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นจนคล้ายลักษณะของดอกกะหล่ำได้ แม้หูดหงอนไก่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาทางการแพทย์ เช่น การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) และการทายา อาจช่วยให้หูดหงอนไก่หลุดลอกออกและลดระดับความรุนแแรงของอาการได้

  • โรคไวรัสตับอักเสบบี และซี (Hepatitis B and Hepatitis C) เป็นภาวะผิดปกติบริเวณตับที่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (HBV) และเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี (HCV) ติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสเลือดของผู้ที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มักปรากฏอาการตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน และผู้ป่วยประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น เกิดความเสียหายที่ตับจนตับทำงานบกพร่อง หรือเกิดภาวะตับอักเสบบีอย่างเรื้อรัง โดยผู้ป่วยภาวะนี้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับได้
    ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีซึ่งมีประสิทธิภาพ แต่การรักษาโรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลันอาจต้องดูแลตามอาการและให้ผู้ป่วยพักผ่อนมาก ๆ ส่วนผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังอาจรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัส หรืออินเตอร์เฟอรอน ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อกำจัดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เซลล์มะเร็ง หรือสารแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย

  • การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการรับเชื้อโปรโตซัว ทริโคโมแนส วาจินาลิส (Trichomonas Vaginalis) โดยมีผู้ติดเชื้อเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีแสดงอาการของโรค ผู้ติดเชื้อเพศชายมักมีอาการท่อปัสสาวะอักเสบ รู้สึกคัน ระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ เจ็บแสบขณะปัสสาวะ อาจมีมูกใส สีขาว เหลือง หรือเขียวที่มีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งการติดเชื้อทริโคโมแนสนั้นรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล หรือยาทินิดาโซล

อย่างไรก็ตามในบางระยะของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการผิดปกติ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้ออยู่ แต่สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่คู่นอนได้ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัยแม้เพียงครั้งเดียว ก็สามารถทำให้ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงเชื้อเอชไอวีได้ การเลี่ยงหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก