โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ทั่วโลก และยังเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลก

โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร?

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการตีบตัน หรือต่อมตันของหลอดเลือดที่นำเลือดไปสู่สมอง ซึ่งทำให้เซลล์สมองได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ โรคนี้สามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของสมองขึ้นอยู่กับการเกิดการตีบตันหรือต่อมตันมากน้อยและตำแหน่งที่เกิดขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เซลล์สมองค่อยๆ ตายลง ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ทันที การรักษาอย่างรีบด่วนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะช่วยลดความรุนแรงจากภาวะสมองตาย และรวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ และยังป้องกันความพิการและทุพพลภาพที่จะเกิดขึ้น

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  • หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดทำให้เลือดไม่ได้ถึงส่วนหนึ่งของสมอง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% หลอดเลือดสมองอุดตันเกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง
  • หลอดเลือดสมองแตก(hemorrhagic stroke) เกิดจากการระเบิดหลอดเลือดในสมอง ทำให้เลือดไหลออกมาในส่วนหนึ่งของสมอง พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้
  • ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient ischemic attack – TIA) ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) คืออาการโรคหลอดเลือดสมอง แต่อาการเป็นไม่นาน (น้อยกว่า 24 ชั่วโมง) แล้วอาการดีขึ้นได้เอง สาเหตุของ TIA เกิดจากสมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอเป็นระยะเวลาชั่วคราว ส่วนใหญ่จะมีอาการ 5-15 นาที แล้วอาการดีขึ้นเอง อาจมีอาการเตือนเหล่านี้เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที ทำการตรวจแยกระหว่างโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองจัดเป็นอาการร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือหากไม่ถึงชีวิต ก็อาจทำให้กลายเป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองและต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพต่อไป

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง สามารถเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้

  • ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้
    • อายุ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามไปด้วย โดยผิวชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นจากการที่มีไขมันและหินปูนมาเกาะ รูที่เลือดไหลผ่านจะแคบลงเรื่อยๆ
    • เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
    • เชื้อชาติ พันธุกรรมบางชนิด
    • ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Thrombophilia) ส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ
    • โรคหลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรค Moyamoya, Cerebral autosomal dominant and subcortical leukoencephalopathy (CADASIL)
    • มีการเซาะตัวของผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง (carotid or vertebral artery dissection)
    • ภาวะเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดผิดปกติ (Polycythemia vera or Essential thrombocytosis)
    • ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Thrombophilia)

  • ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้
    • ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติ
    • เบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หากเกิดที่สมองจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
    • ไขมันในเลือดสูง เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ คือภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้กีดขวางการลำเลียงเลือด
    • โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด atrial fibrillation เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด ถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือดได้ หรือภาวะหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจติดเชื้อ (infective endocarditis)
    • โรคหลอดเลือดแดงที่คอตีบ (severe carotid or vertebral stenosis)
    • โรคอ้วน ทานอาหารที่มีไขมันมาก รสเค็ม 
    • การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัว พบว่าการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 3.5%
    • การใช้ยาเสพติด หรือยากระตุ้นบางชนิด
    • ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง
    • โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบและหลอดเลือดแข็ง
    • การขาดการออกกำลังกาย
    • มีภาวะเครียด
    • ภาวะนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
อาการโรคหลอดเลือดสมอง

อาการโรคหลอดเลือดสมอง 

เมื่อสมองขาดเลือดจะทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาการแสดงต่างๆ จะมากหรือน้อยขึ้นกับระดับความรุนแรงและตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย เช่น

  • มีอาการอ่อนแรงที่ใบหน้า เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หลับตาไม่สนิท หรือชาที่ใบหน้า
  • มีอาการแขนขาอ่อนแรงอย่างเฉียบพลันโดยมักเป็นครึ่งซีก
  • มีอาการแขนหรือขาชาอย่างเฉียบพลัน มักจะเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
  • พูดไม่ออก หรือฟังไม่เข้าใจ รวมทั้งพูดลำบาก หรือพูดไม่ชัด  ปากเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก
  • ตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียวทันทีทันใด  
  • มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน โดยที่ไม่มีสาเหตุ
  • มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ซึมลง เรียกไม่รู้ตัว
  • มีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน
  • มีอาการเดินเซ เดินลำบาก การทรงตัวไม่ดีอย่างเฉียบพลัน

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก โดยจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน 

  • หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke)  เป้าหมายของการรักษาคือทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี
  • การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (rtPA) จะใช้ในกรณีผู้ป่วยมาพบแพทย์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงนับจากมีอาการ และพิจารณาความเหมาะสมของร่างกายผู้ป่วยแล้ว โดยแพทย์จะทำการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ เพื่อละลายลิ่มเลือดที่ปิดกั้นหลอดเลือดอยู่ออกเพื่อช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง
  • การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด (Clot Retrieval) หากเส้นเลือดที่ตีบเป็นเส้นเลือดใหญ่ โดยการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่พร้อมขดลวดที่ขาหนีบไปจนถึงจุดที่เกิดการอุดตัน แล้วดึงเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมองเพื่อเปิดรูของหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง
  • หลอดเลือดสมองแตก หรือฉีกขาด (hemorrhagic stroke)  เป้าหมายของการรักษา คือ การควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต โดยให้ยาลดความดันโลหิตเพื่อป้องกันการแตกซ้ำ พร้อมทั้งหาสาเหตุของเส้นเลือดในสมองแตก ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมอง โดยการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเลือดที่ออกภายในสมองและขนาดของก้อนเลือด

แนวทางการรักษารูปแบบอื่น ๆ

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดที่คอตีบรุนแรง (severe carotid stenosis) และมีอาการของสมองขาดเลือด แพทย์จะรักษาโดยการทำผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อนำเอาส่วนของไขมันที่หลอดเลือดออกมา (carotid endarterectomy) หรือการใส่ขยายหลอดเลือดที่ตีบและใส่ขดลวด (carotid angioplasty and stenting)
  • ในกรณีที่เกิดจากหลอดเลือดโป่งพอง พิจารณาการรักษาด้วยการสวนหลอเลือดและใส่ขดลวด (coiling)
  • โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ (cerebral arteriovenous malformation) พิจารณาการรักษาด้วยการสวนหลอดเลือดและใช่สารอุดหลอดเลือดที่ผิดปกติ (transarterial/venous embolization) หรือ radiosurgery

ตรวจโรคหลอดเลือดสมอง ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก