ในแต่ละปีผู้หญิงไทยที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก อยู่อันดับสองรองจากโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน ที่เป็นสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิต และเป็นมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่เราทราบสาเหตุ   (สถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553) และมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ย 14 ราย/วัน

โดยผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่เรามีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และเกือบ 100% ของมะเร็งปากมดลู กเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี เพราะเป็นเชื้อโรคที่สามารถติดได้ง่าย นอกจากการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถติดต่อทางการสัมผัสได้ด้วย แต่พอติดเชื้อโรคแล้วกลับไม่ค่อยมีอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่มีบาดแผลอะไรเกิดขึ้น ทำให้กว่าจะรู้ตัวก็ใช้เวลาหลายปี

ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนที่ช่วยป้องกันได้ก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์มักจะมาก็ต่อเมื่อมีอาการ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นมะเร็งก็มักอยู่ในระยะลุกลามแล้ว แต่หากเราตระหนักโดยการป้องกัน หรือเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ก็จะช่วยให้พบแนวโน้มของการเกิดโรค และสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที

โรคมะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูก คืออะไร?

โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในเซลล์ปากมดลูกซึ่งอยู่บริเวณช่วงล่างของมดลูก และเชื่อมต่อกับช่องคลอด โรคมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส หรือเอชพีวี ซึ่งมักจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นครั้งแรก ระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัสเอชพีวี อาจทำให้เซลล์ที่ปากมดลูกเกิดความผิดปกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด 

สาเหตุโรคมะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูก เกิดจากเชื้อไวรัส ฮิวแมน แปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือ เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ชนิดก่อมะเร็งซึ่งปัจจุบันพบว่าเชื้อไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 เป็น 2 สายพันธุ์ที่พบได้บ่อยในมะเร็งปากมดลูก

ซึ่งเชื้อไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ 16 พบมากเป็นอันดับ 1 โดยพบได้ประมาณร้อยละ 50-55 และเชื้อไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ 18 พบได้มากเป็นอันดับ 2 ประมาณร้อยละ 15-20 และพบได้บ่อยที่สุดในโรคมะเร็งปากมดลูก ชนิดเซลล์ต่อม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้น และเชื้อไวรัสเอชพีวี สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ โดยอาจจะเกิดจากการติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น ทางปาก ทางช่องคลอด หรือ ทางทวารหนัก โดยได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวี อยู่

ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก

  • ผู้หญิงทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย จะมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • ผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ 
  • ผู้หญิงที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดีจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะหากระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ผู้หญิงที่มีประวัติเกี่ยวกับโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ มาก่อน เช่น เริม หนองในแท้  หนองในเทียม ซิฟิลิส หรือโรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์
  • ผู้หญิงที่สูบบุหรี่
  • ผู้หญิงที่เคยคลอดบุตรมากกว่า 3 คนขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่มีประวัติทานยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน (มากกว่า 5 ปี)
  • ผู้หญิงที่ละเลยไม่ไปตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

อาการโรคมะเร็งปากมดลูก

โดยส่วนใหญ่ระยะเริ่มแรกนี้มักจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ  แต่เมื่อผู้ป่วยพบลักษณะอาการที่ผิดปกติ หรือไม่พึงประสงค์ดังนี้ ควรไปพบแพทย์

  • ระยะแรกมักไม่มีอาการ
  • มีภาวะเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ
    • เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
    • เลือดออกกระปริดกระปรอยในระหว่างรอบเดือนด้วย
    • ประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนมานานขึ้น หรือ ประจำเดือนมามากผิดปกติ
    • มีเลือดออกหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้ว
  • มีตกขาวผิดปกติออกจากช่องคลอด
    • ตกขาวปริมาณมากขึ้น
    • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น 
    • ตกขาวที่มีเลือด มีหนอง มีเศษเนื้อปน
  • มีอาการเบื่ออาหาร ทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหารจนทำให้น้ำหนักลดลง
  • ปวดบริเวณท้องน้อยผิดปกติ อาจทำให้ขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระได้ผิดปกติ เช่น ปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก หรือมีเลือดออกมา
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หากเตรียมตัวพร้อมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่ยังรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์อยู่ อาจเป็นสัญญาณเล็กๆ ของอาการมะเร็งปากมดลูกได้
  • มีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรงหรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการทานอาหารได้น้อยลง หรือมีภาวะโลหิตจาง
  • ขาบวม จะเกิดขึ้นในกรณีที่มะเร็งปากมดลูกได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว
การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

ระยะก่อนลุกลาม  หรือ ระยะก่อนมะเร็ง

เป็นการรักษาเฉพาะที่ เช่น 

  • การตรวจภายใน การทำแพปสเมียร์ (Pap smear) และการตรวจด้วยกล้องขยาย (Colposcope) ทุก 4 – 6 เดือน รอยโรคขั้นต่ำบางชนิดสามารถหายไปได้เองภายใน 1 – 2 ปี
  • การจี้ปากมดลูก หรือจี้ทำลายเซลล์ที่ผิดปกติด้วยความเย็น หรือความร้อน
  • การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด หรือ การตัดปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาครู่เดียวและเป็นหัตถกรรมสำหรับผู้ป่วยนอก

ระยะมะเร็งแล้ว (ระยะที่ 1 และ 2 ขั้นต้น)

ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกนั้นต่างจากการผ่าตัดมดลูกทั่วไปนั่นคือ เป็นการผ่าตัดแบบถอนรากถอนโคน หรือการผ่าตัดเอาปากมดลูก เนื้อเยื่อรอบๆ ปากมดลูก มดลูก ช่องคลอดส่วนต้น และต่อมน้ำเหลืองในบริเวณนั้นออกทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ การผ่าตัดนี้ทำได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้อง และผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเท่านั้น

การผ่าตัด โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการผ่าตัดปากมดลูกแบบกว้าง (radical hysterectomy) โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดปากมดลูก มดลูก ส่วนบนของช่องคลอด รวมไปถึงเนื้อเยื่อด้านข้าง และเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน แต่หากมะเร็งปากมดลูกมีขนาดเล็กมากและเป็นระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยอาจจะได้รับการผ่าตัดเพียงปากมดลูกและมดลูก (simple hysterectomy) เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการมีบุตรในอนาคต ยังมีทางเลือกผ่าตัดที่สามารถเก็บมดลูกไว้ได้ (ผ่าตัดปากมดลูก หรือ trachelectomy)  ซึ่งแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงข้อดี และข้อเสียของการรักษาต่อไป

ระยะ 3 และ 4 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามออกนอกปากมดลูกแล้ว

การรักษาประกอบด้วยเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาในเวลาเดียวกัน เพื่อควบคุมไม่ให้มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง และเนื้อเยื่อชั้นในรอบๆ มดลูก และหากมะเร็งแพร่ลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง และกระดูกเชิงกราน จะส่งผลให้ไต กระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ยิ่งถ้ามีการแพร่กระจายไปอวัยวะที่ไกลออกไป เช่น ตับหรือปอด อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

การใช้รังสีรักษา (Radiation)


หลังทราบผลชิ้นเนื้อ และพบว่ามีความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำ แพทย์อาจแนะนำการใช้รังสีรักษา เพื่อร่วมรักษาเพิ่มเติมหลังผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามเฉพาะที่ (locally advanced cervical cancer) แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยรังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาหลัก

การรักษาด้วยรังสีรักษามี 2 ประเภทหลักๆ ประเภทแรก คือ 

  • การฉายรังสีระยะไกล (external beam radiation therapy) วิธีการนี้เป็นการรักษาด้วยรังสีที่มาจากเครื่องกำเนิดรังสี แพทย์จะทำการฉายรังสีไปยังจุดที่ผิดปกติ 
  • วิธีการรักษาอีกประเภทคือ การให้รังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) โดยแพทย์จะให้แร่ผ่านด้านในช่องคลอดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ

การใช้รังสีรักษาอาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและหาแนวทางการเก็บรักษาไข่ก่อนเริ่มการรักษาโดยเฉพาะในกรณีผู้ป่วยอายุน้อย หรือผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตร ในอนาคต

การใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy)

การรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์จะรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัดในปริมาณเล็กน้อยร่วมกับการใช้รังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามเฉพาะที่ โดยยาเคมีบำบัดจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรังสีรักษามากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่กระจายแพทย์มักจะรักษาด้วยวิธีให้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก

นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาด้วยการใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted-Drug Therapy) แพทย์มักจะใช้การรักษารูปแบบนี้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

ถูกนำมาใช้สำหรับการรักษามะเร็งปากมดลูกในระยะแพร่กระจาย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาประเภทอื่นๆ การรักษาแบบนี้จะช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในการกำจัดเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตาม การรักษาวิธีนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

  • สามารถป้องกันได้โดยลดพฤติกรรมเสี่ยง หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน 
  • การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงอาหารก่อมะเร็งต่างๆ  เพราะหากติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ในช่วงแรก มักจะเป็นๆ หายๆ ได้เอง หากผู้ได้รับเชื้อมีสุขภาพ และมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
  • งดการสูบบุหรี่
  • ตรวจคัดกรองความผิดปกติของปากมดลูก การตรวจหาเชื้อ HPV หรือหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear) และวิธีตรวจ เอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA) สำหรับการตรวจแปปสเมียร์ แพทย์จะทำการป้ายเซลล์จากปากมดลูกเพื่อเก็บไปตรวจหาความผิดปกติ หรือปัจจุบันใช้วิธี Liquid-base cytology (LBC) เป็นการเก็บเซลล์จากปากมดลูกใส่ในของเหลวเพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ ซึ่งให้ผลตรวจที่ชัดเจนมากขึ้น การตรวจแปปสเมียร์ หรือ LBC จะสามารถตรวจหาได้ทั้งเซลล์มะเร็ง และเซลล์ที่มีโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูก 
    ปัจจุบันมีการตรวจเชื้อ HPV DNA สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจคัดกรองมากขึ้น เพราะการตรวจพบเจอได้ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง (premalignant lesions) ซึ่งระยะนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น โดยทั่วไปจะแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองมดลูกในหญิงที่อายุ 21 ปี ขึ้นไป
  • การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV  โดยสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก และยังสามารถป้องกันมะเร็งปากช่องคลอด ช่องคลอด ทวารหนัก และมะเร็งช่องปากได้อีกด้วยโดยทั่วไปแนะนำให้ฉีด HPV วัคซีน ที่ช่วงอายุ 11 หรือ 12 ปี ถึงอายุ 26 ปี และได้ผลดีที่สุดในคนที่ไม่เคยได้รับเชื้อหรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว แพทย์ก็ยังแนะนำให้ไปตรวจภายใน และคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามปกติ

การตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก