อาการปวดหัว เป็นอาการที่พบได้บ่อย เนื่องจากอาการปวดหัวที่เกิด สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากความเครียด ไมเกรน สมองเสื่อม เนื้องอกในสมอง หรือโรคหลอดเลือดสมองก็เป็นได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อาการปวดหัวที่เป็น มีสาเหตุมาจากอะไร ลักษณะของอาการปวด นี่แหละที่จะช่วยให้เราประเมินเบื้องต้น เพื่อจะได้บรรเทาอาการปวดด้วยตัวเองอย่างถูกวิธี

โรคไมเกรน

โรคไมเกรน คืออะไร?

โรคไมเกรน (Migraine )เป็นโรคปวดหัวชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นการปวดศีรษะที่รบกวนชีวิตประจำวัน โดยมีลักษณะการปวดแบบตุบๆ เป็นจังหวะ มักจะเกิดข้างเดียวของศีรษะ แต่ก็สามารถเป็นทั้งสองข้างได้ โดยอาการปวดในช่วงแรกมักมีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย และจะค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง และไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่นมากขึ้น

สาเหตุโรคไมเกรน

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการปวดศีรษะไมเกรนเกิดจากอะไร แต่ปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรนมีหลายประการ ได้แก่

  • จากการศึกษาพบว่าความไม่สมดุลของสารในสมอง เช่น เซโรทอนิน (Serotonin) และ กรดอมิโนเพปไทด์ ที่เกี่ยวข้องกับกลไกทางพันธุกรรม (CGRP) มีส่วนก่อให้อาการของโรค 
  • เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้ก้านสมองถูกกระตุ้น หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองมีการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ เกิดอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง จากก้านสมองที่ถูกกระตุ้น
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิง
  • ช่วงที่เป็นประจำเดือน
  • ความเครียด
  • สภาพแวดล้อม เช่น แสงจ้าหรือแสงแฟลช เสียงดัง กลิ่นที่รุนแรง หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบฉับพลัน
  • การใช้ยาบางชนิด
  • การอดนอน การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือมากเกินไป หรือการนอนและตื่นที่ไม่เป็นเวลา
  • ออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากเกินไป
  • การสูบบุหรี่
  • อาการถอนคาเฟอีน
  • การอดอาหาร หรือการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ
  • อาหารบางชนิด (อาหารหมักดอง, ชีส, ไวน์)
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นไมเกรน มีโอกาสที่จะแสดงอาการของโรคสูงขึ้นตามไปด้วย

ชนิดของไมเกรนที่พบบ่อย

  • Classic migrain  อาการมักเกิดในช่วงวัยรุ่น เมื่ออายุมากขึ้นอาการปวดศีรษะจะลดลงจนกระทั่งหายขาด แต่ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการนำมาก่อน เช่น เห็นแสงแลบ ตามองไม่เห็น ชาซีกใดซีกหนึ่งเราเรียก classic migrain
  • Common migrain  อาการแสดงมักเกิดบริเวณหน้าผาก รอบดวงตา ขมับและขากรรไกร ปวดมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการนำเรียก common migrain ไมเกรนเป็นโรครักษาไม่หายขาดแต่ถ้าเข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำสามารถทำให้ควบคุมโรคได้

อาการโรคไมเกรน

อาการของโรคแบ่งออกเป็น 4 ระยะ และสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยในทุกช่วงอายุ

  • ระยะแสดงอาการล่วงหน้า (Prodrome Stage)
    ก่อนอาการปวดรุนแรงไมเกรนจะเริ่มต้นขึ้น  มักจะมีอาการบอกเหตุประมาณ 1 – 2 วันก่อนเป็นไมเกรน เช่น ปวดตึงตามต้นคอ อารมณ์ที่แปรปรวน ท้องผูก หิว คอแข็ง หาวบ่อย กระหายน้า และความถี่ในการปวดปัสสาวะที่เพิ่มขึ้น
  • ระยะส่งสัญญาณเตือน (Aura Stage)
    สัญญาณเตือนของไมเกรนมักเริ่มต้นจากความผิดปกติในการมองเห็น และภาวะไวต่อแสง ในบางกรณีอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นชั่วขณะ หรือการรับภาพที่แย่ลง เช่น เห็นแสงระยิบระยับ เห็นแสงไฟสีขาวมีขอบหยึกหยัก หรือภาพเบลอหรือบิดเบี้ยว แต่บางรายก็ไม่มีอาการเตือนนำซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของระบบประสาท อาจมีความผิดปกติของประสาทสัมผัสที่มักพบได้บ่อยครั้งร่วมด้วย เช่นอาการไวต่อกลิ่น การได้ยินเสียงรบกวน สัญญาณอาจรุนแรงขึ้นในบางรายและส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ หรือมีอาการชาที่แขนหรือขา โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นเวลาประมาณ 20 – 60 นาที
  • ระยะแสดงอาการของโรค (Attack Stage)
    หลังจากระยะสัญญาณเตือนจบลง เป็นเหมือนช่วงไคลแม็กซ์ของอาการปวดหัวไมเกรน อาการปวดหวตุ๊บ ๆอย่างรุนแรงมักเกิดขึ้นที่ข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ โดยมักมีอาการวิงเวียน และคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกันกับอาการที่ปรากฏในระยะสัญญาณเตือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการไวของประสาทสัมผัสและแสง
  • ระยะหลังแสดงอาการ (Postdrome Stage)
    สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเกิดอาการปวดรุนแรงของไมเกรนแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ส่วนใหญ่มักเกิดอาการเหนื่อยล้าและสับสนในช่วงวันแรก แต่ก็พบว่าผู้ป่วยบางรายมีอาการสดใสขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวร่างกายโดยฉับพลัน อาจทาให้อาการปวดของไมเกรนเกิดซ้าได้
การรักษาโรคไมเกรน

การรักษาโรคไมเกรน

ปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง สามารถควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และการใช้ยาอย่างเหมาะสม เมื่ออายุมากขึ้นมักจะมีอาการปวดศีรษะลดลง การรักษาปวดศีรษะไมเกรน มีดังนี้

  • กรณีปวดหัวไม่รุนแรง
    ถ้าอาการปวดหัวไม่รุนแรง แนะนำให้กินเป็นอันดับแรก คือ พาราเซตามอล เนื่องจากยาชนิดนี้สามารถบรรเทาปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้หลากหลาย โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะจากไมเกรนแบบไม่รุนแรง
    อย่างไรก็ตาม เราควรมั่นใจก่อนว่าตัวเองเป็นไมเกรนจริง ๆ ไม่ใช่อาการปวดหัวที่มาจากสาเหตุอื่น เพราะการกินยาโดยไม่เข้าใจโรคที่เราเป็นนั้นอาจเป็นการรักษาไม่ตรงจุดและเป็นอันตรายได้
  • กรณีปวดหัวรุนแรง
    ถ้ามีอาการรุนแรงมาก อาจเลือกใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น naproxen, ibuprofen ซึ่งเป็น NSAIDs ที่ออกฤทธิ์ได้เร็ว เหมาะกับโรคไมเกรน สามารถหาซื้อง่ายตามร้านขายยา แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจก่อความระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ จึงแนะนำว่า ให้กินยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที
    นอกจากนี้ ยังมียาในกลุ่ม NSAIDs ที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่า เช่น Etoricoxib (ชื่อการค้าที่คุ้นหูกันก็คือ Arcoxial) และ Celecoxib ซึ่งก็สามารถใช้บรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ควรหาซื้อกินเอง จนกว่าแพทย์จะแนะนำให้กินได้
  • ยากลุ่ม NSAIDs สามารถมีผลข้างเคียงต่อตับและไตได้ จึงควรระมัดระวัง ไม่กินยาประเภทนี้เกิน 4 – 10 เม็ดต่อเดือน และควรกินภายใต้คำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • กลุ่มยาแก้ปวด เฉพาะสำหรับอาการปวดหัวไมเกรน
    กลุ่มที่เป็นยาแก้ปวดหัวเฉพาะสำหรับโรคไมเกรน ได้แก่
    • ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) อย่างเช่น eletriptan หรือ sumatriptan พบว่ามีประสิทธิภาพดีและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า NSAIDs โดยจะออกฤทธิ์ต่อสารเซโรโทนินในสมอง ช่วยทำให้หลอดเลือดในสมองหดตัว ซึ่งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง และ ขา ควรระมัดระวังการใช้ และควรใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์ ควรเว้นระยะการกินยาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และไม่ควรกินต่อเนื่องเกิน 10 เม็ดใน 1 เดือน
    • ยากลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ (Ergot alkaloids) เช่น Cafergot ยากลุ่มนี้รักษาได้ผลดี แต่ก็มีผลข้างเคียงที่สำคัญมาก คือ ทำให้เส้นเลือดตีบ หรืออาจทำให้ขาหรือนิ้วดำ จึงไม่ควรกินติดต่อกันเป็นเวลานาน

การป้องกันโรคไมเกรน

แม้ว่าอาการปวดหัวไมเกรนจะไม่เกิดอันตรายต่อสมอง แต่ก็สร้างความรำคาญและรบกวนคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้มาก แถมยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตในระยะยาวได้ ดังนั้น หากสามารถป้องกันไม่ให้อาการกำเริบได้ จะดีกว่าปล่อยให้อาการกำเริบแล้วค่อยมารักษา

อาการปวดหัวไมเกรนสามารถป้องกันได้ ถ้ามาพบแพทย์เพื่อรับแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจสามารถทำให้ความถี่ของการปวดหัวไมเกรนลดลงได้ โดยแพทย์จะเริ่มแนะนำให้ใช้ยาป้องกันเมื่อ

  • มีอาการไมเกรน 4 ครั้งใน 1 เดือนขึ้นไป
  • มีข้อห้ามต่อการใช้ยาแก้ปวดหัวเฉียบพลัน เช่น มีประวัติแพ้ยา ตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

การกินยาป้องกันโรคไมเกรนต่อเนื่องเป็นเวลา 6 – 12 เดือน อาจช่วยทำให้ความถี่ของอาการลดลงได้ถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย การกินยาป้องกันโรคไมเกรนต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

  • กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า (Tricyclic antidepressants) เช่น amitriptyline, nortriptyline ยากลุ่มนี้ มีประสิทธิภาพในการลดความถี่ของการเกิดไมเกรนได้ดีมาก แพทย์มักใช้ยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก ๆ เนื่องจากสรรพคุณที่ช่วยในการนอนหลับ และสามารถช่วยลดอาการปวดของโรคออฟฟิศซินโดรม (ซึ่งเป็นโรคที่มักพบร่วมกันบ่อย) ได้อีกด้วย
  • กลุ่มยากันชัก (Anticonvulsant) เช่น topiramate ยาชนิดนี้นับว่ามีประสิทธิภาพดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับโรคไมเกรน มีการศึกษาว่ายานี้ช่วยลดความถี่ในการเกิดไมเกรนช่วงที่มีประจำเดือนได้ประมาณ 33% [2] แต่ยากลุ่มนี้อาจมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น ทำให้มีอาการมึนงง เกิดอาการชา เป็นต้น
  • กลุ่มยาลดความดัน (Beta blocker) เช่น propranolol ยากลุ่มนี้อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรนน้อยกว่ากลุ่มยา 2 ข้อข้างต้น (ประมาณ 25% [2]) แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้ช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย จึงสามารถใช้กับผู้ป่วยปวดหัวไมเกรน ที่มีโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคร่วม

การป้องกันไมเกรนโดยใช้ยาฉีดิ โดยการฉีดยาชาเข้าที่เส้นประสาทบริเวณท้ายทอย (occipital nerve block) เป็นการรักษาที่ได้ผลดี สำหรับโรคไมเกรนเรื้อรัง อีกทั้ง แทบไม่มีผลข้างเคียง ยกเว้นอาการชาตามหนังศีรษะ เป็นการรักษาทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะทนรับผลข้างเคียงของยาป้องกันไมเกรนตัวอื่น ๆ ไม่ได้

ติดต่อเรา

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก