เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน  ช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวน ทั้งอากาศร้อนและมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำขัง เกิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และยุงลายเจริญเติบโตได้ดี  ทำให้หลายจังหวัดพบผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจำนวนมาก และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  พ่อแม่ทุกคน ต่างวิตกกังวลและเกิดอาการใจไม่ดี หากลูกมีไข้ช่วงนี้ เพราะข่าวการระบาดและการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก แต่ถ้าหากมีความเข้าใจและลูกได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่มีไข้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะช็อก หากเป็นโรคไข้เลือดออก

การตรวจโรคไข้เลือดออก

สาเหตุโรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี  เชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 อาการของโรคไข้เลือดออกแตกต่างกันในแต่ละคน มีตั้งแต่ไม่มีอาการผิดปกติไปจนถึงเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการโรคไข้เลือดออก

  • มีไข้สูง 39 – 40 องศา ประมาณ 2-7 วัน ทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระบอกตา ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชัก
  • ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวอ่อนเพลีย ซึมลง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา
  • หน้าแดงอาจมีผื่นแดงตามตัวได้ตั้งแต่วันแรก อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะ อุจจาระมีเลือดปน
  • กรณีในรายที่มีอาการรุนแรงมาก หลังจากมีไข้มาแล้วหลายวันผู้ป่วยอาจเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก และเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (dengue shock syndrome) โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น หายใจเร็ว เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ตัวบวม ท้องอืด ปวดท้องบริเวณตับมาก ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้
  • สำหรับเด็กที่ไม่มีภาวะช็อก หลังจากมีไข้สูง 2 – 7 วัน ไข้จะเริ่มลดลง ระบบไหลเวียนโลหิตเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ความดันโลหิตและชีพจรเริ่มคงที่ เมื่อผ่านไป 2 – 3 วันจึงเข้าสู่ระยะหายเป็นปกติ จะมีแรงมากขึ้น เริ่มรับประทานอาหารได้ อาการปวดท้องดีขึ้น ระยะนี้มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าซึ่ง จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
  • สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือ อาการช็อก ที่ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว
  • บางรายมีภาวะอาการตับโต กดเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำพบ ตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่ม และกดเจ็บ
การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก

การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก

เนื่องจากอาการของโรคไข้เลือดออกในระยะแรกๆ คล้ายกับโรคติดเชื้อหลายโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ และไข้จากสาเหตุอื่น ดังนั้น นอกเหนือจากการสังเกตอาการ และซักประวัติความเป็นอยู่ของผู้ป่วยแล้ว 

การตรวจวินิจฉัยจะช่วยให้ยืนยันได้ว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกี่หรือไม่ หากสามารถตรวจได้เร็ว ก็จะทำให้สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการติดต่อของโรคได้อีกด้วย แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกด้วยการตรวจเพิ่มเติม และตรวจทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบทั้งหมดของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และความเข้มข้นของเลือด การตรวจชนิดนี้จะช่วยวินิจฉัยโรคได้ต้องมีอาการมา 3 – 4 วัน แต่จะช่วยบอกความรุนแรงของโรค และช่วยในการรักษา
  • การตรวจหาแอนติเจน และแอนตีบอดีย์ต่อเชื้อไวรัสเดงกี่ Dengue NS1Ag, IsM, IsG ซึ่งมีข้อดีคือ ตรวจง่าย รู้ผลเร็วภายใน 30 นาที ตรวจได้ในระยะแรกที่ติดเชื้อ ตั้งแต่มีไข้สูง 1-2 วันแรก แต่ไม่ได้ บอกความรุนแรงของโรคว่าเป็นอย่างไร
  • การตรวจหาสารพันธุกรรม ด้วยวิธี Real Time Reverse Transcriptase Polymerase Chain Reaction (Real Time RT-PCR) โดยเป็นการตรวจหาอาร์เอ็นเอของเชื้อไข้เลือดออก สามารถตรวจได้ระยะแรกของการติดเชื้อ มีความไว และความจำเพาะสูง สามารถแยกชนิดของเชื้อไวรัสเดงกีได้ โดยทราบผลตรวจภายใน 40 นาที ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาและแยกอาการของโรคได้ทันการ
  • การตรวจหาเกลือแร่ในเลือด และความเป็นกรดในเลือดรวมทั้งการตรวจดูความผิดปกติของระดับเอนไซม์ตับ คือ AST, ALT, และโปรตีนในเลือด (albumin) ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะช่วยพยากรณ์โรคและช่วยในการรักษา

หากพบว่าผู้ป่วยมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว และจำนวนเกล็ดเลือดลดต่ำลง เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกี แต่ถ้าเกล็ดเลือดลดต่ำมาก เม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแดงเข้มข้นขึ้น ความดันโลหิตต่ำ ร่วมกับมีชีพจรเบาเร็ว เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่ระยะช็อกซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องดูแลผู้ป่วยหนักทันที

การรักษาโรคไข้เลือดออก

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ดังนั้นการรักษา คือ การประคับประคองตามอาการ ให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในรายที่อาการไม่รุนแรง โรคไข้เลือดออกอาจหายได้เองภายใน 2-7 วัน

  • ด้วยการดูแลรักษาเบื้องต้นผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถให้การดูแลรักษาที่บ้านได้ ควรนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ทุก 1-2 วันเพื่อติดตามอาการ การดูแลผู้ป่วยประกอบด้วย
  • หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ใช้ยาแก้คลื่นไส้
  • ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ 
  • เช็ดตัวลดไข้เป็นระยะๆ
  • มีไข้สูงให้กินยาพาราเซตามอล  ห้ามกินยาลดไข้กลุ่มแอสไพริน และNSAID เพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายและมากขึ้น
  • สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะช็อคได้ ซึ่งภาวะช็อคส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงที่ไข้ลด ได้แก่ อาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการกระสับกระส่าย หรือเซื่องซีม มือเท้าเย็นพร้อมๆ กับไข้ลด หน้ามืด เป็นลมง่าย หากเกิดอาการเช่นนี้ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
  • หากพบว่าผู้ป่วยอาเจียนมาก ปวดท้องมาก ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็นผิดปกติ ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
  • การรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่ดื่มน้ำได้ไม่เพียงพอ ปวดท้องหรืออาเจียนมาก มีภาวะเลือดข้น มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือมีภาวะช็อก ควรรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
การป้องกันโรคไข้เลือดออก

การป้องกันโรคไข้เลือดออก

  • ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น DEET รวมถึงป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามาหลบซ่อนในบ้าน ทั้งนี้ ยุงลายมักกัดในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน
  • ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและใกล้เคียง ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ เช่น แจกัน ทุกสัปดาห์ ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดปราศจากเศษวัสดุที่อาจมีน้ำขังได้ เช่น ขวดเก่า กระป๋องเก่า เป็นต้น
  • ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำใส่ในภาชนะขังน้ำ หรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ในภาชนะที่มีน้ำขังขนาดใหญ่ เช่น อ่างบัว บ่อน้ำ
  • เสริมภูมิด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเดงกี 3 เข็ม สำหรับกรณีเด็กที่มีอายุมากกว่า 9 ปี  และน้อยกว่า 45 ปี ร่วมกับมีประวัติ เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว อาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจากสายพันธุ์อื่น เพื่อลดความรุนแรงของโรค

คำแนะนำในการฉีดวัคซีนโรคไข้เลือดออก

มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อน (มีภูมิคุ้มกันแล้ว) แนะนำสำหรับคนอายุ 9-45 ปี โดยฉีดจำนวน 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 6 เดือน

  • อายุ 9-45 ปี เคยเป็นไข้เลือดออก ฉีดวัคซีนได้
  • อายุ 15-45 ปี น่าจะเคยติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อน ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีน
  • อายุ 9-15 ปี ไม่เคยเป็นไข้เลือดออก ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน ควรรอข้อมูลและคำแนะนำในอนาคต หรือตรวจภูมิคุ้มกันก่อน (ปัจจุบันยังไม่มีบริการตรวจ)
  • คนที่เคยฉีดวัคซีนแล้ว 1-2 ครั้งให้ฉีดวัดชีนครั้งต่อไปได้ ถอายุเกิน 15 ปีหรือเคยเป็นไข้เลือดออก ถ้าไม่เคยเป็นไข้เลือดออก ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัดชีนครั้งต่อไป

การตรวจโรคไข้เลือดออก และฉีดวัคซีนป้องกัน ที่ภูเก็ตได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก