ร่างกายของคนเราทุกคนต้องดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่เต็มไปด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่อาจมีสิ่งปนเปื้อนอันไม่พึงประสงค์ หรือมีอันตรายต่อร่างกาย โดยร่างกายของเรานั้นได้พัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกรุกรานจากสิ่งแปลกปลอม  ไม่ว่าจะเป็นพวกเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อโรคอื่น ๆ รวมถึงสารเคมี ฝุ่นละออง ขนสัตว์ เกสรดอกไม้  และอีกมากมายที่ทั้งมองเห็นและมองไม่เห็น  ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในร่างกาย

หากสิ่งแปลกปลอม เหล่านี้เข้าไปสู่ร่างกายของคนเราแล้วนั่น อาจทำให้เกิดความเจ็บป่วย หรือเป็นโรคต่าง ๆ ได้ แต่เพราะร่างกายของคนเรานั้นมีกลไกการป้องกัน และทำลายสิ่งแปลกปลอมเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า ระบบภูมิคุ้มกัน (หรือภูมิต้านทาน) ของร่างกายมนุษย์ เป็นระบบที่เริ่มพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงการเจริญของทารกในครรภ์ ซึ่งทำให้ร่างกายของมนุษย์สามารถตอบสนองต่อเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในธรรมชาติได้

ระบบภูมิคุ้มกัน คืออะไร

ระบบภูมิคุ้มกัน คืออะไร?

ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) คือ เป็นกลไกการทำงานของร่างกายระบบหนึ่ง ที่เป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายที่ทำหน้าที่ป้องกัน หรือต่อต้านไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หรือเกิดการติดเชื้อจากเชื้อโรคเหล่านั้น หรือคอยช่วยเหลือไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยจากสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยสิ่งแปลกปลอมทั้งภายนอก ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือสารพิษจากจุลินทรีย์ หรือจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย เช่น เนื้องอก หรือเซลล์มะเร็ง

ระบบภูมิคุ้มกันมีกลไกจากสารเคมีที่สร้างขึ้นจากร่างกายเพื่อทำหน้าที่ป้องกัน และทำลายเชื้อโรค โดยมีเซลล์สำคัญที่ชื่อว่า เซลล์เม็ดเลือดขาว (white blood cell,(WBC) หรือ leucocyte) ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด ทำหน้าที่ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคภายในร่างกาย ช่วยกำจัดสารพิษหรือของเสีย และกำจัดเศษเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายที่ถูกทำลายโดยธรรมชาติ การมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง และมีประสิทธิภาพ จึงมีส่วนช่วยไม่ให้ร่างกายอ่อนแอจากสิ่งเร้าภายนอกต่างๆ ซึ่งการดูแลและเอาใจใส่ภูมิคุ้มกันของเราให้แข็งแรงอยู่ตลอด จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งเพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยาวนาน

การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงนั้น ไม่ใช่เรื่องยากหากพวกเราทุกคน หันมาเอาใจใส่ในการดูแลรักษาระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ดูดีอยู่เสมอ เพราะการเจ็บไข้ได้ป่วยทำให้สูญเสียเวลา และเงินทองในการรักษา และไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีอยู่เสมอย่อมป้องกันร่างกายจากโรคภัยต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายของการรักษาโรคนั้นๆ ด้วย

การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ระบบภูมิคุ้มกันมีความซับซ้อนอย่างมาก และแบ่งออกเป็น 2 ระบบหลัก ๆ ได้แก่

  • ภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด (Innate immune system) เราทุกคนเกิดมาพร้อมกับระบบภูมิคุ้มกันประเภทนี้ ถูกถ่ายทอดจากพันธุกรรม คือ ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองเพื่อป้องกันและสกัดเชื้อโรค ซึ่งเป็นกลไกที่ไม่จำเพาะเจาะจงกับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ผิวหนัง เยื่อบุ เยื่อเมือกต่าง ๆ ช่วยขัดขวางไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หรือ กรดในกระเพาะอาหาร น้ำตา เหงื่อ ช่วยทำลายเชื้อโรคก่อนเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงเซลล์เพชฌฆาต (Natural Killer Cells; NK Cells) ที่พร้อมต่อสู้กับเนื้องอก เซลล์มะเร็ง หรือการติดเชื้อไวรัสอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดการติดเชื้อ  เพื่อทำให้ร่างกายเราปลอดภัยจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ซึ่งถือเป็นการป้องกันเชื้อโรคชั้นแรกของร่างกาย โดนภูมิคุ้มกันเเบบนี้มีมาตั้งเเต่เกิด โดยทารกที่มีอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ จะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันได้เอง เเต่ยังสร้างได้น้อยมาก เนื่องจากเริ่มมีการเจริญของอวัยวะน้ำเหลือง
  • ภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง หรือภูมิคุ้มกันที่ได้มาภายหลัง (Adaptive immune system) เป็นระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเจาะจงที่ร่างกายสร้างขึ้นมาหลังจากได้รับเชื้อ โดยพื้นผิวของจุลินทรีย์จะมีโมเลกุลโปรตีน ที่เรียกว่า แอนติเจน(Antigen) ซึ่งสามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันได้ โดยเซลล์เม็ดขาวชนิด B lymphocyte (B-cells) จะตอบสนองด้วยการสร้างโปรตีนชนิดพิเศษที่เจาะจงกับแอนติเจนขึ้นมา หรือที่เรียกว่า แอนติบอดี้(Antibody) เพื่อให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T lymphocyte (T-cells) มาทำลายต่อไป แม้ว่าหลังการได้รับเชื้อครั้งแรก ร่างกายอาจใช้เวลาหลายวันในการสร้างแอนติบอดี้ แต่ระบบภูมิคุ้มกันจะจดจำและปรับตัว เพื่อให้สามารถต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมในครั้งถัดไป
    ภูมิคุ้มกันโรค ที่เกิดขึ้นหลังคลอด สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
    • ภูมิคุ้มกันก่อเอง (Active immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดจากร่างกายได้รับแอนติเจน หรือเชื้อโรคที่อ่อนกำลังลงซึ่งไม่ทำอันตรายต่อสุขภาพ โดยนำมาฉีด กิน หรือทาที่ผิวหนัง กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันขึ้น เช่น การฉีดวัคซีนไอกรน โปลิโอ วัณโรค ไทฟอยด์ เป็นต้น
    • ภูมิคุ้มกันรับมา (Passive immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากการสกัดจากเลือดของสิ่งมีชีวิต แล้วนำมาฉีดให้ร่างกายต้านทานโรคได้ทันที เช่น เซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มโรคพิษสุนัขบ้า โรค บาดทะยัก  โรคคอตีบ เป็นต้น หรือได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ตั้งเเต่อยู่ในครรภ์ เเละเมื่อคลอดออกมาจะได้รับภูมิคุ้มกันจากน้ำนมเเม่ แต่ภูมิคุ้มกันในน้ำนมเเม่จะลดลงหลังจากคลอดได้ 6 เดือนจึงทำให้ทารกติดเชื้อได้ง่ายในระยะนี้

ระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป เมื่อผ่านการติดเชื้อใดๆ มาจะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อนั้น ๆ มากขึ้น จากการจดจำเชื้อโรคได้จึงช่วยให้ป้องกันเชื้อโรคเหล่านั้นได้ดีขึ้นนั่นเอง

หน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกัน

  • ป้องกัน และทำลายเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอม
  • ทำหน้าที่จดจำ และต่อต้านสารที่เป็นอันตรายจากสิ่งแวดล้อม
  • ต่อสู้กับเซลล์ที่แปรสภาพผิดปกติ เช่น เนื้องอก เซลล์มะเร็ง

จะเกิดอะไรขึ้นหากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ?

บางครั้งระบบภูมิคุ้มกันเกิดการตอบสนองขึ้นมา แม้ว่าจะไม่มีการรุกรานเกิดขึ้นจริง ๆ โรค และความผิดปกติเหล่านี้ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ปกติในร่างกาย และไม่สามารถปกป้องคุณเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อก่อโรคได้

โรคแพ้ภูมิตนเอง

ภาวะ และโรคผิดปกติทางภูมิคุ้มกัน

เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายประสบกับปัญหาสุขภาพที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ขาดสารอาหาร ความเครียด ก็อาจส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลงซึ่งมีผลทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มผิดปกติได้  ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ หรือโรคตามมาเช่น อาการแพ้ หรือโรคหอบหืด อาการติดเชื้อได้ง่าย ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

  • โรคภูมิแพ้ (Allergies) เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อการถูกกระตุ้น โดยสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ผง  เชื้อรา ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ อาหารบางอย่าง โดยการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) ก่อให้เกิดอาการแพ้ ตั้งแต่ คัดจมูก จาม หรืออาจรุนแรงถึงหายใจติดขัด และถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ สารเหล่านี้จะไม่มีอันตรายใด ๆ  โรคภูมิแพ้จัดเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย
  • โรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune diseases) คือ การที่ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิด และโจมตีเซลล์ปกติในร่างกายของคุณ โดยจะต่อต้านและทำลายเนื้อเยื่อ อวัยวะของตนเองผู้ป่วยอาจมีอาการ ผื่นแดงตามใบหน้า ตาแห้ง ตัวบวม ขาบวม ปวดหัว ปวดบวมตามข้อต่อกระดูก ผมร่วง สมอง และระบบประสาทเสียหาย เป็นต้น ก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัส หรือโรคแอสเอลอี (SLE) หรือ  โรคภูมิแพ้ เอส แอล อี (Systemic Lupus Erythematous: SLE)
  • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency diseases)  เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายเสื่อมหรือบกพร่อง ทำให้เป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส และเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าปกติ หากคุณมีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง คุณจะป่วยง่ายขึ้น และการติดเชื้อของคุณอาจยาวนาน และรุนแรงขึ้น และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งทำให้ยากต่อการรักษา มักเกิดจากโรคทางพันธุกรรม (genetic disorders) หรือการติดเชื้อไวรัส HIV ที่จะทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกาย และเพิ่มโอกาสเจ็บป่วยร้ายแรงได้
  • โรคมะเร็ง (Cancer) เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Multiple myeloma) โรคมะเร็งกลุ่มนี้ส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง

การสร้างและดูแลระบบภูมิคุ้มกันที่ดี

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าระบบภูมิคุ้มกัน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงปลอดจากการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่าง ๆ ดังนั้น การดูแลสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่ถูกสุขอนามัยตามแนวทางปฏิบัติดังนี้

  • ไม่สูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรเป็นอาหารที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่นผัก ผลไม้ ธัญพืช และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวน้อย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ควรรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงภาวะอาการที่ทำให้เสียสุขภาพจิตและความเครียด ทำจิตใจให้เบิกบานสงบสุข เช่น การทำสมาธิ
  • ควบคุมน้ำหนัก และความดันโลหิต
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดูแลรักษาความสะอาดให้ร่างกายอยู่เสมอ
  • หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ

จะเห็นได้ว่าระบบภูมิคุ้มกันมีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ช่วยป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว และฟื้นตัวได้เร็วหากได้รับเชื้อก่อโรค ดังนั้นเราจึงควรดูแลระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ทำงานอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ ด้วยการตรวจเช็คร่างกาย และมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ และหากมีความผิดปกติต่อร่างกายซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเกิดการติดเชื้อก็ควรรีบไปพบแพทย์

ติดต่อเรา

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก