โรคพิษสุนัขบ้า หรือที่เรียกติดปากกันว่า โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาท ที่มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง เกิดจากติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ซึ่งสามารถติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ หรือ สัตว์สู่คน ได้ทางน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือจากแหล่งที่มีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า เช่น จากซากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า หรือผู้ที่ทำงานกับเชื้อโรคโดยตรง หรือเพียงแค่สัตว์ที่ติดเชื้อมาเลียบาดแผลของเราก็ทำให้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ายังสามารถเข้าได้ทางเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก ปาก แม้ว่าเยื่อเมือก จะไม่มีบาดแผลก็ตาม

มากกว่า 90% ของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยเกิดจากถูกสุนัขกัด แต่ในความเป็นจริงแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น แมว ค้างคาว ลิง ชะนี กระรอก หนู หรือแม้แต่ วัว ควาย ก็สามารถติดเชื้อ โรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร?

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) คือ โรคติดเชื้อในระบบประสาท และเยื่อบุสมอง เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่มีอันตรายร้ายแรง โดยผู้ป่วยที่สัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อ จะได้รับเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าในตระกูล Rhabdoviridae ผ่านทางน้ำลายของสัตว์ที่กัด 

ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคน สุนัข แมว ลิง กระรอก ค้างคาว สุนัขจิ้งจอก สกังก์ แรคคูน พังพอน ฯลฯ พาหะนำโรคที่สำคัญในประเทศไทย คือ สุนัข ประมาณ 90% รองลงมาคือแมว ส่วนในต่างประเทศมักเกิดจากสัตว์ป่ากินเนื้อต่าง ๆ เช่น สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า Jaguar ฯลฯ และสำหรับในแถบประเทศลาตินอเมริกานั้น ยังพบพาหะที่สำคัญคือ ค้างคาวดูดเลือด (Vampire bat)

โดยโรคพิษสุนัขบ้านี้ หลังจากได้รับเชื้อมักไม่ปรากฏอาการใดๆ โดยอาการมักเกิดหลังจากถูกกัดประมาณ 7 วัน หรือเป็นเดือน เชื้อไวรัสจะจู่โจมประสาทส่วนกลางทำให้เกิดโรคทางระบบประสาท เช่น ชัก ประสาทหลอน อัมพาต โดยโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคร้ายแรงอันตรายถึงชีวิต ซึ่งผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค แต่สามารถป้องกันได้ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

ทำไมถึงเรียกโรคพิษสุนัขบ้าว่าโรคกลัวน้ำ

เพราะผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการกลัวน้ำ ซึ่งเป็นอาการแปลกที่พบในโรคพิษสุนัขบ้าเท่านั้น และเวลากินน้ำจะสำลัก และเจ็บปวดมาก เพราะกล้ามเนื้อคอเป็นอัมพาตและเกร็ง

สาเหตุโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากไวรัสเรบี่ส์ (Rabies) ซึ่งเป็น อาร์ เอน เอ ไวรัส (RNA virus) สายเดี่ยว จัดอยู่ใน วงศ์ Rhabdoviridae สกุล Lyssavirus และมีทั้งหมด 7 สปีชีส์ ซึ่งไวรัสทุกตัวในสกุลนี้ มี antigenicity ที่คล้ายคลึงกัน แต่จากการทดสอบด้วย Monoclonal antibody พบว่าไวรัสแต่ละตัวมี nucleocapsid และรูปแบบของ surface protein ที่อาจแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของโลกหรือในสัตว์แต่ละชนิด 

ไวรัสชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ในระบบประสาท จึงทำให้สัตว์ หรือ มนุษย์ที่ป่วยโรคนี้แสดงอาการทางประสาทออกมาอย่างเด่นชัด ลักษณะของเชื้อ รูปร่างคล้ายกระสุนปืน ปลายด้านหนึ่งโค้งมนและปลายอีกด้านหนึ่งตัดตรง เชื้อโรคชนิดนี้ตายได้ง่าย ถ้าถูกแสงแดด หรือแสงอุลต้าไวโอเลต จะตายใน 1 ชั่วโมง ถ้าต้มในน้ำเดือด จะตายภายใน 5 – 10 นาที ถ้าถูกน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ไลโซล ฟอร์มาลีน แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ไอโอดีน และโพวีโดนไอโอดีน และสบู่หรือผงซักฟอก เชื้อจะตายภายในเวลารวดเร็ว

โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากการสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค ผ่านการถูกสัตว์กัด ข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าบาดแผลหรือบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยถลอก ถูกสัตว์เลียบริเวณเยื่อบุตา จมูก หรือปาก หรือรับประทานเนื้อสัตว์ดิบๆที่มีเชื้อ นอกจากนี้การปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ transplantation) ก็อาจเป็นสาเหตุให้ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

โรคพิษสุนัขบ้ามีระยะฟักตัวแตกต่างกันมาก มีรายงานว่าเกิดขึ้นเร็วได้ตั้งแต่ 5-6 วัน หรือนานมากกว่า 6 เดือน– 6 ปี (น้อยกว่า 1%) ส่วนใหญ่มักจะเกิดอาการในช่วงประมาณ 20 – 60 วันภายหลังจากการสัมผัส เชื้อ โดยหากตำแหน่งที่ถูกสัตว์กัดใกล้กับบริเวณศีรษะจะมีระยะฟักตัวที่เร็วกว่า

โรคพิษสุนัขบ้า สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร?

สามารถติดต่อสู่คนได้ 4 ทาง คือ

  • การถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค จะถูกถ่ายทอดผ่านทางบาดแผลที่ถูกกัด
  • การถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย หากบริเวณที่ถูกเลียมีบาดแผล หรือรอยถลอก ขีดข่วน  อาจมีโอกาสติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้  รวมทั้งการถูกเลียที่ริมฝีปาก หรือนัยน์ตา ยกเว้นกรณีที่บริเวณที่ถูกเลียเป็นผิวหนังปกติ ไม่มีบาดแผล ก็จะไม่ติดโรคจากสัตว์ที่มีเชื้อเหล่านั้น
  • การถูกสัตว์ที่เป็นโรคข่วน เนื่องจากสัตว์ส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมชอบเลียอุ้งเท้า จึงทำให้น้ำลายของสัตว์ติดอยู่ตามอุ้งเท้า และซอบเล็บ เมื่อถูกสัตว์เหล่านี้ข่วน จึงอาจทำให้ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ เทียบเท่ากับการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด
  • การกินเนื้อสัตว์ และสมองของสัตว์ที่เป็นโรค เริ่มมีรายงานทางการแพทย์ระบุออกมาว่า มีผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จากการรับประทานเนื้อสัตว์และสมองสัตว์ เนื่องจากอาจยังมีเชื้อไวรัสอยู่ในเนื้อสัตว์และสมองของสัตว์ถึงมีแม้ว่าจะผ่านปรุงสุกแล้วก็ตาม

ส่วนกรณีการติดต่อจากคนสู่คนนั้น ในตามทฤษฎีเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีรายงานที่ยืนยันแน่ชัด

ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด

อาการโรคพิษสุนัขบ้า

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะยังไม่แสดงออกในทันทีหลังจากที่ได้รับเชื้อ โดยผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการประมาณ 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือนหลังได้รับเชื้อ ในบางรายอาจใช้เวลาร่วมปีกว่าที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะแสดงอาการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งของบาดแผล โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงจำนวนมาก (Richly innervated  area) โดยเชื้อโรคจะแพร่กระจายจากบาดแผลเข้าสู่ระบบประสาทและสมอง อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

  • ระยะแรกเริ่ม (Prodromal phase)
    ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะแรกเริ่ม จะมีอาการไม่จำเพาะ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ระคายเคืองบริเวณที่ถูกสัตว์กัดเป็นอย่างมาก มีอาการเจ็บแปลบคล้ายหนามทิ่มตำ  และมีอาการคลุ้มคลั่ง โดยระยะนี้ อาจกินระยะเวลาเฉลี่ย 2-10 วัน
  • ระยะที่มีอาการทางระบบประสาท (Acute neurologic phase)
    ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะนี้ จะมีอาการแบ่งได้ 2 ประเภท
    • ภาวะสมองอักเสบ (Encephalitis) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น กระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อหดเกร็ง เพ้อ เห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ ไม่ชอบเสียงดัง กระวนกระวาย
    • ภาวะอัมพาตแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรงปวกเปียก (Flaccid paralysis) ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อหดตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง กลืนลำบากโดยเฉพาะของเหลว อย่างเช่น น้ำ โดยจะมีอาการเกร็ง ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ หรือเกร็ง หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก กล้ามเนื้อกระตุก รวมถึงแขนขาอ่อนแรงลง
    • ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน
  • ระยะโคม่า หรือ ระยะสุดท้าย (Coma)
    ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะนี้ จะพบภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ระบบหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น หรือมักเสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์

การรักษาโรคพิษสุนัขบ้า

ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้  สามารถทำได้ด้วยการรีบพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด ทำให้การรักษาจึงทำได้เพียงการดูแล ประคับประคอง และรักษาตามอาการ เท่าที่จะทำได้เท่านั้น วิธีการดูแลผู้ป่วย ทำได้ดังนี้

  • โดยปกติแล้วการรักษาจะต้องสังเกตอาการของสมอง และสัตว์ที่กัดว่ามีเชื้อไวรัสหรือไม่ หากยังไม่สามารถยืนยันผลที่แน่นอน แพทย์จะทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ โดยระยะเวลา และรอบการฉีดวัคซีนแต่ละครั้งจะต้องเป็นไปตามกำหนดที่แพทย์วางไว้ให้ เพราะหากปล่อยไว้ ไม่รักษาโรคนี้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
  • ในรายที่มีอาการบ่งบอกการติดเชื้อ แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะรักษาร่วมด้วย ด้านผู้ป่วยที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ รวมถึงฉีดอิมมูโนโกลบูลินต้านเชื้อพิษสุนัขบ้า โดยฉีดอิมมูโนโกลบูลินให้เร็วที่สุดหลังการถูกกัด ปริมาณที่ควรฉีดจะคำนวนตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วย และแบ่งฉีดบริเวณแผลที่ถูกกัดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
  • หากผู้ป่วยติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้วนั้น จะต้องแยกผู้ป่วยให้ปราศจากสิ่งเร้าต่างๆ เช่น ห้องที่สงบ ปราศจากเสียงรบกวน แต่ไม่จำเป็นต้องปิดไฟ และต้องให้สารอาหารแบบน้ำเข้าทางเส้นเลือด เนื่องจากผู้ป่วยมักจะกินอาหารไม่ได้ 
  • ผู้ให้การดูแล ควรใส่เสื้อผ้ามิดชิด ควรใส่แว่นตา ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า
  • ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ที่สุดคือ การรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งตัวของเรา และตัวของสัตว์เลี้ยง รวมถึงดูแลสัตว์เลี้ยงของตนไม่ให้ไปคลุกคลีกับสัตว์ชนิดอื่นที่ไม่ฉีดวัคซีนด้วย

การตรวจโรคพิษสุนัขบ้า ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก