ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland)

เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายและมีความสำคัญอย่างมาก ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายผีเสื้อ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งมี 2 รูปแบบหลัก คือ Triiodothyronine (T3) และ Thyroxine (T4) มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมน และหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปทำหน้าที่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมองและต่อมไฮโปธาลามัส  ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย

โดยฮอร์โมนไทรอยด์นั้นมีผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย จึงเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเกือบทุกส่วน ที่สำคัญ เช่น การควบคุมอุณหภูมิของร่างกายและการหลั่งเหงื่อ  การหายใจ การเต้นของหัวใจ น้ำหนักตัว อารมณ์ เรียกได้ว่าดูแลระบบทั่วร่างกาย ฯลฯ หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ มีภาวะของต่อมไทรอยด์โต ก็จะส่งผลให้ร่างกายแปรปรวนตามมา หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษแล้วไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อหัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ รอบเดือน และระบบสืบพันธุ์ได้ 

โรคทางต่อมไทรอยด์แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ

  • กลุ่มแรก เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ ได้แก่ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) และภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) 
  • กลุ่มที่สอง คือ โรคก้อนของต่อมไทรอยด์ (Nodular thyroid diseases)
โรคไทรอยด์เป็นพิษ

ความสำคัญของฮอร์โมนไทรอยด์

ฮอร์โมนไทรอยด์ส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้

  • ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ
  • สัมพันธ์กับการทำงานของสมองและระบบประสาท รวมถึงภาวะด้านอารมณ์
  • ควบคุมระบบเผาผลาญและอุณหภูมิของร่างกาย
  • ช่วยส่งเสริมการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อ หัวใจ กระดูก

ทั้งนี้ หากร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงกว่าปกติ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น โดยภาวะนี้เรียกว่า ไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

โรคไทรอยด์เป็นพิษ คืออะไร?

โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) สามารถเรียกอีกชื่อว่า ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Overactive thyroid) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้มีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินความจำเป็น 

ซึ่งจะส่งผลทำให้มีอาการ และอาการแสดงจากอวัยวะต่าง ๆ ได้หลายระบบ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสายตาที่อาจลุกลามถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น หรือภัยเงียบที่น่ากลัว อย่างหัวใจวาย

สาเหตุโรคไทรอยด์เป็นพิษ

  • ภาวะต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากเกินไป เป็นสาเหตุหลักของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ และชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือโรคเกรฟส์ (Graves’ disease) นอกจากนี้การมีก้อนเนื้องอกในต่อมไทรอยด์บางชนิดก็อาจทำให้มีการสร้างฮอร์โมนมากเกินไปจนเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้เช่นกัน
  • ภาวะไทรอยด์อักเสบ เกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส จนเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์รั่วเข้าสู่กระแสเลือด หรือเกิดจากการใช้ยา เช่น ลิเธียม (lithium) และอินเตอร์เฟอรอน (interferon) ปัญหาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือการคลอดบุตรก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต่อมไทรอยด์อักเสบได้
  • การรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ในผู้ที่มีภาวะพร่องไทรอยด์ ผู้ป่วยอาจเผลอรับประทานมากเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจหรืออาจเป็นจากกรณีแพทย์ให้ใช้ฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อลดการผลิตฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) เพื่อป้องกันหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของก้อนเนื้อผิดปกติในต่อมไทรอยด์
  • การบริโภคฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป โดยเฉพาะจากการกินเนื้อวัวที่ปนเปื้ยนด้วยเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ของวัว อาการที่เกิดจากการบริโภคดังกล่าวเรียกว่า ภาวะไทรอยด์อักเสบจากแฮมเบอเกอร์ (hamburger thyroiditis) ซึ่งพบได้ไม่บ่อย
  • ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodules) เป็นสาเหตุที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยพบก้อนเนื้อเจริญบนต่อมไทรอยด์ ซึ่งมักเป็นก้อนเนื้อร้ายที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
  • ภาวะแพ้ท้องรุนแรง หรือเนื้องอกรังไข่สร้างฮอร์โมนมากเกินไป
  • เนื้องอกต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนกระตุ้น แต่พบได้น้อยมาก
สาเหตุโรคไทรอยด์เป็นพิษ

เมื่อร่างกายเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดง บางรายอาจแสดงอาการชัดเจน และเป็นรุนแรงมากจนถึงขั้นวิกฤต เนื่องจากฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของร่างกายหลายระบบพร้อมกัน โดยผู้ป่วยแต่ละรายแสดงอาการได้หลากหลาย ดังนี้

  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด : เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลว
  • ระบบประสาท : มือสั่น หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ
  • ระบบผิวหนัง : เหงื่อออกมาก ผิวชื้น ผมร่วง ศีรษะล้าน ผิวหนังบริเวณหน้าแข้งหนาขึ้น นิ้วปุ้มหรือนิ้วตะบอง เล็บกร่อน
  • ระบบตา : ตาโตขึ้น เปลือกตาเปิดกว้าง หรืออาจตาโปน
  • ระบบทางเดินอาหาร : หิวบ่อย ถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน
  • ระบบเผาผลาญ : น้ำหนักตัวลดแม้รับประทานอาหารในปริมาณปกติหรือรับประทานมากกว่าปกติ ตัวอุ่นขึ้น
  • ระบบสืบพันธุ์ : ประจำเดือนมาผิดปกติ กะปริบกะปรอย ประจำเดือนขาด มีบุตรยาก
  • ระบบกล้ามเนื้อ : อ่อนแรง มือสั่น
  • คอ : คอโต บางรายอาจมีก้อนที่บริเวณคอ

อาการโรคไทรอยด์เป็นพิษ

อาการของภาวะไทรอยด์เป็นพิษอาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย อยู่ในระดับไม่รุนแรง หรือปานกลาง โดยอาการที่พบได้ มีดังต่อไปนี้

  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ จังหวะไม่สม่ำเสมอ ใจสั่น
  • ชีพจรเต้นเร็วแรง  หรือการเต้นของหัวใจเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที ทำให้เหนื่อย หายใจเร็ว
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล กระวนกระวาย  กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย 
  • อ่อนเพลีย
  • มีอาการสั่น โดยเฉพาะมือ
  • ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย
  • ผมร่วง
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย หรือท้องเสีย
  • ต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอบวม หรือโตขึ้น
  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
  • ประจําเดือนมาไม่ตรงเวลา
  • มีโอกาสแท้งบุตรสูงขึ้น

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี อาจมีอาการแตกต่างกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อย โดยอาจมีภาวะซึมเศร้า มีภาวะสมองเสื่อม หรือความอยากอาหารลดลง เป็นต้น

การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ

สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนโดยการกลืนแร่รังสีหรือผ่าตัด อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาโรคไทรอยด์ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และโรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

  • การรับประทานยาต้านไทรอยด์ (Anti-thyroid medicine) ซึ่งมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ Methimazole กับ Propylthiouracil (PTU) ช่วยยับยั้งการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์
  • ไอโอดีนกัมมันตรังสี (Radioactive iodine therapy) หรือการให้รังสีไอโอดีน 131 (I-131) ด้วยการกลืนสารไอโอดีนกัมมันตรังสีนั้น จะทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง หรือเพื่อลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์อย่างถาวร อย่างไรก็ตามเซลล์ต่อมไทรอยด์อาจเสียหายมากเกินไป จนนําไปสู่ภาวะพร่องไทรอยด์ ผู้ป่วยอาจต้องทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต 
  • ยากลุ่ม Beta blockers เพื่อบรรเทาอาการภาวะไทรอยด์เป็นพิษ อันได้แก่ อาการมือสั่นและหัวใจเต้นเร็ว
  • ฮอร์โมน Glucocorticoids สามารถช่วยลดอาการปวดจากภาวะไทรอยด์อักเสบ
  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy) เป็นการผ่าเอาต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่ออกเพื่อรักษาภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป เช่นเดียวกับการรักษาด้วยไอโอดีนกัมมันตรังสี ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในระยะยาว ต้องใช้ยาฮอร์โมนไทรอยด์เสริม ทำได้ 2 วิธีคือ
    • การผ่าตัดเปิด (Open surgery)
    • การส่องกล้องผ่าตัด (Endoscopic surgery)

ซึ่งการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือการผ่าตัดออกทั้งหมด จะทำให้ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ แต่อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เสียงแหบ ได้

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคตาโปน ตาเหล่หรือเห็นภาพซ้อนเนื่องจากไทรอยด์เป็นพิษ จักษุแพทย์สามารถทำการผ่าตัดรักษาทั้งหมด 3 ขั้นตอน ดังนี้
    • ผ่าตัดขยายเบ้าตาออก (Orbital decompression) เพื่อไม่ให้ตาบอดจากความดันในเบ้าตาสูง
    • ผ่าตัดกล้ามเนื้อตา สำหรับผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาตหรือกล้ามเนื้อตาทำงานไม่ประสานกัน ทำให้ตาเหล่ หรือมองเห็นภาพซ้อน
    • ผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติภายนอก

โดยทั่วไปแพทย์จะรักษาด้วยยาก่อน แต่หากผู้ป่วยได้รับยาแล้วไม่หายหรือว่ามีอาการแพ้ยา แพทย์อาจใช้รังสีไอโอดีน สำหรับการผ่าตัดมักทำในกรณีที่คนไข้มีก้อนในต่อมไทรอยด์ซึ่งสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งและมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย

ทั้งนี้การรักษาไทรอยด์เป็นพิษขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์และการตัดสินใจร่วมกันกับผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาอย่างเหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย

การตรวจโรคไทรอยด์เป็นพิษ ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก