ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นอาการที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยพบบ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งหากมีอาการอักเสบบ่อยๆ เป็นเรื้อรังจนถึงขั้นรุนแรงได้ ดังนั้น จึงไม่ควรมองข้ามหากคุณมีอาการเจ็บคอ บ่อยๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ

ต่อมทอนซิล คือ เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองที่ภายในมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด อยู่ใบริเวณผนังช่องคอด้านหลังทั้ง 2 ข้าง  โดยตำแหน่งแรกเป็นตำแหน่งที่สามารถเห็นได้ชัดเจนอยู่บริเวณด้านข้างของช่องปาก นอกจากนี้ยังพบได้ที่บริเวณโคนลิ้น และในช่องของโพรงจมูก โดยมีหน้าที่หลักในการดักจับ และกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารส่วนต้น และมีบทบาทบางส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้ทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ

โดยปัญหาที่พบบ่อย คือ ต่อมทอนซิลเกิดการอักเสบ หรือต่อมทอนซิลมีขนาดโตผิดปกติ ส่งผลกระทบกับการหายใจและการกลืนของผู้ป่วยได้

โรคต่อมทอลซิลอักเสบ

โรคต่อมทอนซิลอักเสบ คืออะไร?

โรคต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)  เป็นภาวะอักเสบของต่อมทอนซิล ส่วนคออักเสบ (Phayngitis) หมายถึงภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอที่อยู่บริเวณหลังช่องปากเข้าไป บางครั้งภาวะทั้งสองอาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้ บางครั้งอาจเกิดเพียงทอลซิลอักเสบหรือคออักเสบอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยทั่วไปเมื่อพูดว่าต่อมทอนซิลอักเสบ จะหมายความถึงการอักเสบของต่อมทอนซิลซึ่งโดยมากเป็นทั้งสองข้างและมักมีอาการของหลอดคอหอยร่วมด้วย

สาเหตุโรคต่อมทอนซิลอักเสบ

โรคต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณต่อมทอนซิล  ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส และการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อก่อโรคที่ พบได้บ่อยตามลำดับ คือ

  • เชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรืออาจเกิดจากไวรัสชนิดอื่นๆ ได้ โดยอาการของต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่มักจะมีอาการ ไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอ จาม อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวได้
  • เชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก กลืนเจ็บ กลืนลำบาก อาจมี อาการเจ็บร้าวไปที่หูร่วมด้วย โดยถ้าหากผู้ป่วยมาพบแพทย์แล้วได้รับการตรวจ วินิจฉัย ก็จะพบว่าที่ผนังคอหอย และต่อมทอนซิลมีลักษณะแดงและพบจุดหนอง ที่ต่อมทอนซิลได้ ส่วนในผู้ป่วยเด็กจะมีอาการเจ็บคอมากจนกลืนน้ำลายไม่ได้ ทำให้ตรวจพบว่ามีน้ำลายไหลออกมาด้านนอกได้บ่อย ส่วนอาการร่วมอื่นๆ ที่ พบได้จากการที่เป็นทอนซิลอักเสบ คือ ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอโตและกดเจ็บ โดย การติดเชื้อเกิดจากแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอกคัส (ชนิดเอ) เป็นสายพันธุ์ที่มักก่อให้เกิดอาการคออักเสบ แต่แบคทีเรียหรือสเตร็ปโตคอกคัสสายพันธุ์อื่นก็อาจเป็นสาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบได้เช่นกัน
  • เชื้อรา อาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ
  • การเป็นโรคอื่น ๆ มาก่อน แล้วเกิดการป่วยซ้ำซ้อนกลายเป็นทอลซิลอักเสบ โดยมักจะเป็นไข้รูมาติก หรือ โรคไตอักเสบเฉียบพลันรุนแรง
  • การที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียที่โดยปกติแล้วไม่สามารถทำอันตรายใด ๆ กับร่างกาย เกิดแข็งแรงขึ้น แล้วเหนี่ยวนำไปสู่การเกิดทอนซิลอักเสบได้
  • การไม่รักษาความสะอาดของช่องปาก แล้วทำให้เกิดการสะสมของจำนวนเชื้อแบคทีเรียที่มากภายในช่องปาก โดยจะเกิดการรวมกับอาหารหรือเครื่องดื่มไหลลงสู่คอ จากนั้นเชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นจะถูกดักจับไว้ที่ต่อมทอนซิล เมื่อเชื้อแบคทีเรียมีปริมาณมากเกินกว่าการรับมือของต่อมทอนซิลก็จะเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบได้

อาการโรคต่อมทอนซิลอักเสบ

สังเกตอาการหรือสัญญาณเตือนของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการแสดง ดังนี้

มีอาการเจ็บคอ อาการเจ็บคอจะเจ็บมากบริเวณด้านข้างของช่องปากทั้งสองข้าง โดยมากจะเจ็บมากกว่า 48 ชั่วโมง ต่อมทอนซิลบวมแดง กดแล้วเจ็บ

  • กลืนอาหารลำบากโดยเฉพาะเวลากลืนอาหารจะเจ็บมาก สำหรับเด็กจะมีอาการน้ำลายไหลเนื่องจากกลืนลำบาก
  • มีอาการไข้ หนาวสั่น ไข้จะสูงหรือไข้ต่ำๆ ขึ้นอยู่กับสภาพผู้ป่วย เชื้อที่เป็นสาเหตุหากเป็นเชื้แบคทีเรียจะมีไข้สูง
  • หากต่อมอักเสบเฉียบพลันจะมีไข้สูง หากต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังไข้จะต่ำๆ
  • คัดจมูก มีน้ำมูกแต่ไม่มาก น้ำมูกมักใส
  • ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
  • ปวดร้าวที่หู ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการเจ็บหูเพราะการอักเสบของต่อมทอนซิลอาจจะส่งผลถึงการอักเสบของหู
  • อาจจะมีอาการอาเจียนหลังรับประทานอาหาร
  • อาจมีต่อมน้ำเหลืองด้านหน้าลำคอส่วนบน โตทั้งสองข้าง
  • มีกลิ่นปาก
  • คลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม โต มีจุดหนองที่ต่อมทอนซิลและต่อมน้ำเหลืองโตกดเจ็บ
  • เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยน เนื่องมาจากภาวะต่อมทอนซิลโต

ในเด็กที่ยังไม่สามารถอธิบายอาการของตนเองได้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการ ดังต่อไปนี้

  • น้ำลายไหลมากผิดปกติเพราะมีปัญหาการกลืน
  • ไม่รับประทานหรืออยากอาหาร
  • มีอาการงอแงผิดปกติ
การรักษาโรคต่อมทอลซิลอักเสบ

การรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ

การรักษาแบ่งออกเป็น การดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง และการเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

การดูแลตัวเองที่บ้าน

การดูแลตัวเองที่บ้านช่วยบรรเทาอาการและทำให้ฟื้นตัวจากต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียได้เร็วขึ้น ถ้าเป็นทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส การดูแลตัวเองที่บ้านเป็นวิธีรักษาเพียงวิธีเดียว แพทย์จะไม่จ่ายยาปฏิชีวนะ อาการมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน ควรจะดูแลดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่
  • ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้คอชุ่มชื้น หรือดื่มน้ำให้มากๆ ไมน้อยกว่าวันละ 8 – 10 แก้ว
  • ถ้ามีไข้สูงให้เลี่ยงการอาบน้ำและเปลี่ยนไปเป็นเช็ดตัวแทน
  • รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น ซุปหรือน้ำแกงอุ่น น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้ง หรือไอติมเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ
  • ไม่ทานอาหารที่มีรสจัด หรือเผ็ดจัดเพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่ต่อมทอนซิลได้
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ หรือสามารถทำน้ำเกลือ โดยผสมน้ำอุ่น ประมาณ 8 ออนซ์ หรือ 1 ถ้วยกับเกลือครึ่งช้อนชา
  • เปิดเครื่องทำความชื้นเพิ่มความชื้นในอากาศ อากาศแห้งทำให้คอระคายเคือง
  • ระวังไม่สูดดมควันบุหรี่หรือไอจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เพราะอาจทำให้ระคายคอ
  • ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์
  • แยกของใช้ส่วนตัวออกจากผู้อื่นที่ไม่เป็นโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย
  • หากมีอาการปวดหัวให้ทานยาพาราเซตามอล
  • อมยาที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ
  • รักษาความสะอาดภายในช่องปาก บ้วนปากและแปรงฟันหลังทานอาหารเสร็จเพื่อไม่ให้มีเศษอาหารตกค้างที่จะกลายเป็นสาเหตุให้อักเสบมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้เสียงจนกว่าจะหาย
  • ปรึกษาแพทย์หากต้องการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอและไข้

การเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

  • หากมีอาการเจ็บคอร่วมกับมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต จะต้องเข้าพบแพทย์เพราะไม่สามารถรักษาด้วยตนเองได้เพราะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ต่อมทอนซิลเป็นหนอง
  • เมื่อมีอาการเป็นไข้และรักษาด้วยตนเองไม่หายภายใน 2 – 3 วัน
  • เมื่อมีอาการหายใจลำบาก อันเนื่องมาจากต่อมทอนซิลบวมโตจนส่งผลต่อการหายใจ
  • กินอาหารได้น้อย หรือไม่ได้เลยอันเนื่องมาจากอาการเจ็บคอ
  • แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะสำหรับต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ควรรับประทานยาให้ครบและหมดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นหรือหายแล้ว  ต่อมทอนซิลอักเสบอาจแย่ลงหรือการติดเชื้ออาจกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไข้รูมาติก หรือ โรคไตอักเสบเฉียบพลันในกรณีที่ไม่รับประทานยาให้ครบทั้งหมด
  • หากมีอาการทอนซิลอักเสบบ่อยๆ อาจจะกลายเป็นทอนซิลอักเสบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ บ่อย สุดท้ายแพทย์อาจจะพิจารณาตัดต่อมทอนซิลออก

การผ่าตัดทอนซิลแพทย์จะพิจารณาจาก ดังนี้

การผ่าตัดเป็นการรักษาโรคต่อมทอนซิลเรื้อรัง เกิดซ้ำ หรือเกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่ตอบสนองกับยาปฏิชีวนะ หรือรักษาด้วยยาไม่ได้ผล ในปีหนึ่งมีการอักเสบหลายครั้งจนกระทบกับชีวิตประจำวัน

  • อาการต่อมทอนซิลอักเสบจะจัดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อย เมื่อเกิดขึ้น
    • อย่างน้อย 7 ครั้งในปีที่ผ่านมา
    • อย่างน้อย 5 ครั้งต่อปีในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา
    • อย่างน้อย 3 ครั้งต่อปีในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา
  • แพทย์จะทำการผ่าตัดเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น
    • ปัญหาการกลืน
    • ปัญหาการหายใจ หายใจไม่ออก
    • มีอาการนอนกรน หรือสภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับบ่อยๆ
    • เกิดหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ
    • ผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็งต่อมทอนซิล

การผ่าตัดต่อมทอนซิลออกนั้นจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่ต่อมทอนซิล ทำให้ลดการเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ และไม่มีข้อเสียแต่อย่างใดหากตัดต่อทอนซิลทิ้งไปหากตัดทิ้งได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะต่อมทอนซิลที่ถูกตัดออกมักจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีหากยังปล่อยเอาไว้ อีกทั้งภายในร่างกายมีต่อมน้ำเหลืองมากมายที่สามารถทำงาน ในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรคแทนต่อมทอนซิลได้ ดังนั้นการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกจึงไม่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง

ตรวจโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก