โรคซิฟิลิสเป็นโรคที่สามารถพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยผู้ที่ป่วย ไม่ว่าจะเป็นในทารกหรือผู้ใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย โดยปกติจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิสหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงตามมาภายหลังได้ การดำเนินโรคในขั้นต้นโดยทั่วไปจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ หรือเรียกว่าแผลริมแข็ง การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสบาดแผลนี้กับผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ 

โรคซิฟิลิสอาจเป็นปัญหาที่ตรวจพบได้ยาก เนื่องจากการดำเนินโรคหลังจากได้รับเชื้อแล้ว เชื้อแบคทีเรียสามารถหลบซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ภายในร่างกายเราได้เป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะมีอาการแสดงขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งระยะนี้เรียกว่าระยะแฝงหากเราสามารถตรวจพบการติดเชื้อนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ และหลังจากรักษาจนหายขาดแล้ว เราจะไม่เป็นโรคซิฟิลิส เว้นแต่ว่าจะได้รับเชื้อจากผู้ติดเชื้อรายอื่น

บางกรณีก็อาจติดต่อผ่านแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์หรือขณะทำคลอด โดยอาการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับด้านผิวหนัง เช่น เกิดแผล หรือเกิดผื่น รวมถึงมักส่งผลให้เกิดแผลบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศร่วมด้วย

โรคติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด

โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด คืออะไร?

โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital syphilis) สามารถติดต่อผ่านทางแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดได้ ซึ่งนับเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง และมีผลร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้  โดยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดส่งผลต่อสุขภาพของทารกดังนี้

โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด อาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ ดังนี้

  • ทำให้คลอดก่อนกำหนด
  • ทำให้เสียชีวิตระหว่างอยู่ในครรภ์
  • ทำให้เสียชีวิตระหว่างคลอด
  • ทำให้เสียชีวิตหลังจากคลอดไม่นาน

นอกจากนี้ โรคซิฟิลิสแต่กำเนิดยังเป็นสาเหตุให้ทารกพิการหรือมีร่างกายผิดปกติ ดังนี้

  • น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
  • ตับและม้ามใหญ่กว่าปกติ
  • ตัวเหลือง
  • ฝ่ามือฝ่าเท้าพองและลอก
  • น้ำมูกไหลมาก อาจมีเลือดปน คล้ายเป็นหวัดเรื้อรัง
  • โลหิตจางอย่างรุนแรง
  • กระดูกผิดรูป
  • ตาบอด
  • หูหนวก
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • นอนนิ่ง ไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ คล้ายเป็นอัมพาต

อย่างไรก็ตาม ทารกบางรายอาจไม่มีอาการป่วยใด ๆ เมื่อคลอดออกมา แต่จะมีอาการเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 2-3 สัปดาห์หรืออาจนานกว่านั้น ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบว่าเป็นซิฟิลิสระหว่างตั้งครรภ์ ควรสังเกตอาการของทารกหลังคลอดอย่างใกล้ชิด และรายงานให้คุณหมอทราบ นอกจากนี้ ทารกที่เป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดไม่สามารถหายเองได้ ต้องได้รับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิต

อาการโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด

อาการของทารกที่ติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิดแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

  • ระยะแรก (Early congenital syphilis) พบตั้งแต่แรกคลอดจนถึงระยะ 1 ปี มักมีอาการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดน้อย ตับโต ม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว ซีด ผิวหนังที่ฝ่ามือฝ่าเท้าพองและลอก เด็กจะมีอาการคล้ายคนเป็นหวัด น้ำมูกมาก เสียงแหบ เมื่อเด็กอายุได้ 2–3 เดือน จะพบลักษณะเฉพาะคือ ตัวเหลือง ผื่นขึ้นตามตัวคล้ายซิฟิลิสระยะที่ 2 ในผู้ใหญ่ บางรายมีอาการนอนนิ่งไม่ขยับเขยื้อนคล้ายเป็นอัมพาต เนื่องจากกระดูกอ่อนอักเสบ กระดูกหน้าแข้งทิเบียด้านในกร่อนทั้งสองข้าง หรือมีกระดูกส่วนปลายแยกออกจากลำกระดูก นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กเลี้ยงไม่โต น้ำหนักไม่เพิ่มตามอายุ ตัวบวมจากโรคไต ผิวหนังรอบปากและจมูกแตกเป็นแผลตื้น ๆ มีเลือดและน้ำเหลืองไหลออกทางเยื่อบุจมูก เมื่อแผลหายแล้วจะเกิดแผลเป็นรอบปาก
  • ระยะหลัง (Late congenital syphilis) พบในเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ลักษณะที่สำคัญคือ แก้วตาอักเสบ ซึ่งอาจตาบอดในเวลาต่อมา ฟันหน้ามีรอยแหว่งเว้าคล้ายจอบบิ่น เส้นประสาทฝ่อทำให้หูหนวก ปัญญาอ่อน ชัก เพราะเชื้อเข้าทำลายระบบประสาท นอกจากนั้นยังอาจพบความผิดปกติของกระดูกได้ เช่น ดั้งจมูกยุบ เพดานปากโหว่ หน้าผากนูน กระดูกขาโค้งงอ ข้อเข่าบวม และมีอาการเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
การวินิจฉัยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด

การวินิจฉัยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด

การจะระบุโรคที่แน่ชัดต้องตรวจพบเชื้อซิฟิลิสจากการส่องกล้อง darkfield ในน้ำมูกหรือเนื้อเยื่อที่มีพยาธิสภาพ แต่โอกาสที่จะพบเชื้อมีไม่มากนักโดยเฉพาะถ้ายังมีเชื้อไม่มาก จึงมีการจัดกลุ่มทารกเสี่ยงและทารกที่สงสัยว่าจะติดเชื้อไว้ดังนี้

ทารกหรือเด็กทุกรายที่คลอดจากมารดาที่ตรวจพบว่ามี VDRL และ FTA-ABS เป็นบวก มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  • มารดาไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาแต่ไม่ถูกต้องหรือไม่เพียงพอ (การรักษาที่ถูกต้องคือการให้ benzathine penicillin 2.4 ล้านยูนิต ฉีดเข้ากล้าม 3 ครั้ง ห่างกันทุก 1 สัปดาห์)
  • มารดาได้รับการรักษาด้วยยาอื่นที่ไม่ใช่ penicillin
  • มารดาได้รับการรักษาด้วย penicillin แต่เข็มสุดท้ายได้รับไม่ถึง 1 เดือนก่อนคลอด
  • มารดาได้รับการรักษาด้วย penicillin แต่ VDRL titer ไม่ลดลงตามที่คาดหวัง เช่นหลังรักษา 3-6 เดือนแล้วยังสูงอยู่ หรือลดลงไม่ถึง 4 เท่า
  • มารดาได้รับการรักษาในระหว่างตั้งครรภ์ แต่ไม่ทราบผลของ serology titer หลังการรักษาว่าได้ผลดีหรือไม่ หรือมีข้อบ่งชี้ว่ามารดายังมีภาวะของการติดเชื้ออยู่
  • มารดาที่มีติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย

ทารกหรือเด็กทุกรายที่มีความเสี่ยงดังกล่าวควรได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจตา และตรวจหูโดยละเอียด, ต้องตรวจ darkfield หาเชื้อซิฟิลิสจากรกและเลือดในสายสะดือตั้งแต่วันแรก (หากพ้นจากวันแรกไปแล้วต้องตรวจเชื้อจากน้ำมูกหรือจากเนื้อเยื่อที่มีพยาธิสภาพ), เจาะเลือดดูระดับของ VDRL และ IgM FTA-ABS เมื่อแรกคลอดและตอนอายุ 15-18 เดือน, ตรวจน้ำไขสันหลังดูเซลล์และหาระดับของ VDRL และ IgM FTA-ABS, เอกซเรย์กระดูก, และตรวจเลือดดูการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ

โดยทั่วไปถ้าเป็นแอนติบอดี้ที่ได้รับจากแม่ VDRL titer ของลูกจะน้อยกว่าแม่เสมอ และจะให้ผลลบภายใน 4-6 เดือนหลังคลอด, ส่วน FTA ABS สามารถอยู่ได้นานถึง 1 ปี ถ้าเลยกำหนดนี้แล้วยังบวกอยู่ หรือยิ่งถ้า tilter กลับสูงขึ้นใหม่ให้นึกถึงว่ามีการติดเชื้อในเด็กแล้ว

การรักษาโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด

การรักษาโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด แพทย์มักรักษาด้วยการให้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ทางหลอดเลือดแก่ทารกเป็นเวลา 10-14 วันมีดังนี้

  • กลุ่มที่มีความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นแต่ยังไม่สามารถมารับการตรวจอย่างละเอียดได้ ให้ฉีด Procaine penicillin 50,000 ยูนิต/กก/วัน เข้ากล้ามไปก่อน ระหว่างที่รอไปตรวจหรือรอผลการตรวจ
  • กลุ่มที่เป็นโรค (ตรวจพบเชื้อแล้ว) และกลุ่มที่สงสัยมาก (ได้แก่ เด็กที่มีอาการหรืออาการแสดงทางคลินิก, มีภาพรังสีของกระดูกยาวผิดปรกติ, มี VDRL titer สูงกว่าของแม่ 4 เท่า, มี IgM FTA-ABS เป็นบวก) ให้เปลี่ยนมาฉีด aqueous penicillin G 50,000 ยูนิต/กก. เข้าเส้น (ทุก 12 ชั่วโมงในทารกอายุ 7 วันแรก และทุก 8 ชั่วโมงในทารกที่อายุ 7-28 วัน) นาน 10-14 วัน
  • กลุ่มที่วินิจฉัยว่าเป็นซิฟิลิสของระบบประสาท (มีอาการหรืออาการแสดงทางคลินิก ร่วมกับ มีเซลล์และโปรตีนผิดปกติในน้ำไขสันหลังหรือมี CSF VDRL positive) และกลุ่มที่เด็กมีอายุเกิน 4 สัปดาห์ไปแล้ว ควรให้การรักษาแบบ neurosyphilis คือฉีด aqueous penicillin G 200,000-300,000 ยูนิต/กก./วัน เข้าเส้น นาน 10-14 วัน

ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าทารกเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดตั้งแต่ตอนหลังคลอดและได้รับการรักษาทันที และร่างกายของทารกตอบสนองต่อยา อาจรักษาให้หายได้ แต่จำเป็นต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ ๆ โดยการตรวจเลือดเพื่อยืนยันผลการรักษา ในบางราย หากรักษาช้าเกินไปหรือร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

การป้องกันโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด

โรคซิฟิลิสแต่กำเนิดอาจป้องกันได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เข้ารับการตรวจคัดกรองซิฟิลิสตั้งแต่ฝากครรภ์ครั้งแรกในช่วงไตรมาสแรก หากตรวจพบจะได้รักษาอย่างทันท่วงที และหาวิธีป้องกันการติดเชื้อของทารกในครรภ์ ทั้งนี้ การตรวจหาซิฟิลิสประกอบด้วยการตรวจร่างกาย และการเจาะเลือด เพื่อนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหาแอนติบอดี (Antibodies) หรือสารภูมิต้านทาน
  • ป้องกันตัวเองจากโรคซิฟิลิส ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ป้องกันได้ด้วยการมีคู่นอนเพียงคนเดียว สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติดหรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด เพราะอาจทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจและเลือกมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมทั้งตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ตรวจโรคติดเชื้อซิฟิลิส ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก