อาหารเป็นพิษ เกิดจากรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทยที่เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการถ่ายท้อง อาเจียน เวียนหัว หากมีไข้ร่วมด้วยหรือท้องเสียและอาเจียนขั้นรุนแรง ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที เราจึงควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้

โรคอาหารเป็นพิษ

โรคอาหารเป็นพิษ คืออะไร?

โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อน ของเชื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย (หรือสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย) ไวรัส หรือ เชื้อปรสิต หรือในบางครั้งอาจรวมถึงพิษจากโลหะหนักต่าง ๆ ด้วย ทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินอาหารที่มีความรุนแรงแตกต่างกันไปจากหลาย ๆ ปัจจัย  โดยทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ท้องเสียถ่ายเหลว หรือปวดท้อง ซึ่งอาการส่วนใหญ่มักไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดอาการรุนแรงขึ้นก็อาจทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้

สาเหตุโรคอาหารเป็นพิษ

ส่วนใหญ่ภาวะอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือไข่ตัวอ่อนหนอนพยาธิที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ซึ่งเชื้อที่มักเป็นสาเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษ คือ  

  • ซาลโมเนลลา (Salmonella) พบมากในเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เชื้อนี้ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายมีมูก คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ภายในเวลา 4–7 วัน  
  • เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) หรืออีโคไล (E. Coli) บางสายพันธ์ุ เช่น สายพันธุ์ Enteropathogenic E. Coli สายพันธุ์ Enterotoxic E.Coli (ETEC) และสายพันธุ์ Shiga toxin-producing E. Coli โดยพบมากในเนื้อสัตว์ดิบ ซึ่งทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปวดมวนท้อง และอาเจียนภายในเวลา 1–10 วัน
  • คลอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อย จึงมักพบในอาหารที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท โดยเฉพาะอาหารกระป๋องที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น หน่อไม้ปี๊บ หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง และเนื้อสัตว์แปรรูป มักทำให้ผู้ป่วยอาเจียน ถ่ายท้อง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง และบางครั้งอาจรุนแรงจนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้
  • ชิเกลล่า (Shigella) พบการปนเปื้อนทั้งในผลิตภัณฑ์อาหารสด น้ำดื่มที่ไม่สะอาด รวมถึงอาหารสดที่สัมผัสกับคนที่มีเชื้อโดยตรง เพราะเชื้อชนิดนี้สามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนได้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดมวนท้องหลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อภายใน 7 วัน
  • ไวรัสที่ก่อโรคในทางเดินอาหาร (Enteric Viruses) ประกอบด้วยไวรัสหลายชนิด เช่น โนโรไวรัส (Norovirus) ที่มักปนเปื้อนได้ทั้งในอาหารสด สัตว์น้ำที่มีเปลือก และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยจะแสดงอาการภายใน 1–2 วัน หรือเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A) ที่สามารถติดต่อด้วยการได้รับเชื้อจากอาหารสดที่สัมผัสกับบุคคลที่มีเชื้อโดยตรง ภายใน 2–3 สัปดาห์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาวะอาหารเป็นพิษในผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดจากสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อโรค พืชที่มีพิษ หรือสารเคมี เช่น สารตะกั่ว ยาฆ่าแมลง เห็ดพิษ สารหนู หรือสารปรอท เป็นต้น

อาหารเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ

สำหรับเมนูอาหารที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษมีอยู่หลายชนิด ก่อนรับประทานควรระมัดระวังและเน้นปรุงให้สุกใหม่ สะอาด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากอาหารเหล่านี้ ได้แก่ 

  • เนื้อสัตว์ อาหารสด อาหารทะเล ไข่ที่ปรุงไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ  หรือผ่านความร้อนไม่เพียงพอ
  • ผักหรือผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด
  • อาหารที่มีรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรือเค็มจัด
  • อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง ที่พบว่ามีรอยบุบ รอยรั่ว แตก บวม หรือขึ้นสนิม
  • อาหารที่ผลิตหรือปรุงไม่สะอาดเพียงพอ เช่น ใช้เขียงหั่นเนื้อสัตว์สดกับผักลวกร่วมกัน
  • อาหารที่มีแมลงวันตอม
  • อาหารที่ปรุงสุกตั้งแต่เช้า โดยไม่มีการอุ่นร้อน
  • อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสมแล้วปรุงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง
  • น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน นำน้ำแข็งสำหรับแช่น้ำหรืออาหารมารับประทาน
อาการโรคอาหารเป็นพิษ

อาการโรคอาหารเป็นพิษ

อาการของอาหารเป็นพิษจะไม่ได้แค่ท้องเสียเพียงอย่างเดียว บางคนวิงเวียนศีรษะและอาเจียนร่วมด้วย มักเกิดขึ้นทันทีหลังรับประทานอาหาร หรือในช่วง 4 – 30 ชั่วโมงแรกหลังจากรับประทานอาหารมื้อนั้น 

ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1–2 วัน ขึ้นอยู่กับประเภท และปริมาณของเชื้อที่ร่างกายได้รับเข้าไป โดยอาจมีอาการหลังรับประทานอาหารไม่กี่ชั่วโมง หรือนานเป็นสัปดาห์หากได้รับเชื้อรุนแรง โดยอาการป่วยของผู้ที่มีภาวะอาหารเป็นพิษ มีดังนี้

  • รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้
  • ถ่ายท้อง ถ่ายมีมูกหรือเลือดปน
  • ไม่อยากอาหาร
  • มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หมดเรี่ยวแรง ปากแห้ง ตาโบ๋ กระหายน้ำบ่อย และปัสสาวะน้อย
  • มีอาการทางระบบประสาท เช่น มองเห็นไม่ชัด แขนเป็นเหน็บ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้

  • ท้องเสียติดต่อกัน 3 วันในผู้ใหญ่ หรือท้องเสียติดต่อกัน 24 ชั่วโมงในเด็ก โดยที่อาการไม่ดีขึ้น
  • อาเจียนถี่หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่องนานกว่า 12 ชั่วโมง
  • มีเลือดปนในอาเจียนหรืออุจจาระ
  • ตามัวหรือมองเห็นไม่ชัด
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยอาการปวดไม่ลดลงหลังจากอุจจาระไปแล้ว
  • ท้องเสียร่วมกับมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
  • มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำอย่างมาก ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย ปัสสาวะมีสีเข้ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ และหน้ามืด ส่วนเด็กและทารกอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ตาโบ๋ ขม่อมยุบ มีน้ำตาไหลออกมาน้อยหรือไม่มีน้ำตาขณะร้องไห้

นอกจากนี้ บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแออย่างผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคลิ้นหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคไต ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบว่ามีอาการบ่งชี้ของภาวะอาหารเป็นพิษ 

การรักษาโรคอาหารเป็นพิษ

โดยปกติถ้าอาการของผู้ป่วยไม่รุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยรักษาตามอาการ เช่น ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทน, ทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียนหรือยาแก้ปวดท้อง เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ หากอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้ไปพบแพทย์

ฉะนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีอาการดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตัวเองที่บ้าน โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ โดยดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ หรือจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากอาการท้องร่วงและอาเจียนหรือให้ดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสียหรือ ORS ซึ่งเป็นสารที่มีเกลือและน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนประกอบหลัก ใช้เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุบางชนิดที่สูญเสียไปจากการอาเจียนและถ่ายอุจจาระ และสามารถดื่มได้จนกว่าจะหยุดอาเจียนหรือกลับมาถ่ายอุจจาระแบบเป็นก้อนแล้ว และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย เพราะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า ORS ซึ่งอาจทำให้ถ่ายเหลวมากขึ้น 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาที่ทำให้หยุดถ่ายอุจจาระมารับประทานเอง หากอาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตัวเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษา โดยแพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเมื่อมีภาวะเสียน้ำและเกลือแร่ และอาจให้ยาปฏิชีวนะ ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลและรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ตามสาเหตุต่อไป

ตรวจโรคอาหารเป็นพิษ ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก