ปัจจุบันโรคกระดูกพรุน เป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ถือว่าเป็นภัยเงียบอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุน เพราะไม่พบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ จนกระทั่งล้มแล้วมีกระดูกหัก  จึงทำให้รู้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกเสียคุณสมบัติการรับน้ำหนัก กระดูกเปราะ หักง่าย

โดยโรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่พบได้กับทุกเพศทุกวัย และพบมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน จะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และช่วยป้องกันการเกิด หรือลดความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนได้

โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน คืออะไร?

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นโรคกระดูกชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดได้กับกระดูกทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมหรือบางลงของกระดูก เนื่องจากสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูก ส่งผลให้กระดูกเปราะหรือหักได้ง่าย โรคนี้มักไม่แสดงอาการหรือก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ นอกจากกระดูกแตกหรือหัก ซึ่งพบได้บ่อยในบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก และกระดูกข้อมือ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน ได้แก่ ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ ลดน้ำหนักผิดวิธี ใช้ยาสเตียรอยด์เกินขนาด และขาดวิตามิน ดี หรือแคลเซียมโรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ  และเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

โรคกระดูกพรุนมีสำคัญอย่างไร? 

โรคกระดูกพรุนเป็นลักษณะบ่งบอกถึงความชรา พบมากในหญิงสูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสเป็นโรคนี้ก็มากขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อกระดูกบางถึงระดับที่ไม่สามารถรับน้ำหนัก หรือแรงกระแทกได้ก็จะเกิดกระดูกหัก  ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในขณะทำกิจวัตรประจำวันตามธรรมดาหรือเกิดขึ้นเมื่อได้รับอุบัติเหตุหกล้ม  แม้ว่าอุบัติเหตุนั้นจะดูเล็กน้อยก็ตาม กระดูกที่มักจะหัก ได้แก่ กระดูกต้นขา  และกระดูกข้อมือ

สาเหตุโรคกระดูกพรุน

  • พันธุกรรม พบว่าชาวผิวขาวมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าชนผิวดำ ( นิโกร ) ส่วนชาวเอเชีย ( รวมทั้งคนไทย ) เป็นพวกเผ่ามองโกลอย จะเก็บสะสมเนื้อกระดูกได้มากกว่าชาวผิวขาวแต่น้อยกว่าชาวผิวดำ หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ปริมาณแคลเซียมที่ได้รับและเก็บสะสมไว้ในขณะนั้น ซึ่งปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมของแต่ละช่วงอายุ และ ถ้าได้รับปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอในแต่ละวัย ก็เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากขึ้น 
  • อายุที่มากขึ้น ส่งผลให้กระบวนการทดแทน เสริมสร้างกระดูกส่วนที่สึกหรอช้าลง ดังนั้นหากร่างกายขาดแคลเซียมในปริมาณที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน โดยเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี กระดูกจะบางลงทุก 1-3% ทุกปี และเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หรือ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  • สารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างเนื้อกระดูก 
    • อาหาร  ปริมาณอาหารโปรตีนที่รับประทานจะต้องสมดุลกับปริมาณแคลเซียมด้วย  มีรายงานหลายฉบับชี้ให้เห็นว่า การบริโภคโปรตีนที่มากเกินไป  จะทำให้มีการสูญเสียแคลเซียม ออกมาทางปัสสาวะในปริมาณที่มากกว่าที่พบในกลุ่มที่บริโภคโปรตีนต่ำกว่า หรือขาดสารอาหาร การรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ นอกจากทำให้ร่างกายเสียสมดุลแล้วยังอาจขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูก โดยเฉพาะแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีน
    • ฟลูออไรด์ แมกนีเซียม และโปรแตสเซียม  เหล่านี้เป็นสารที่พบปริมาณน้อย  แต่มีความจำเป็นในการสร้างกระดูก
    • ฮอร์โมนเพศ เพศหญิงจะเห็นได้ชัดเจนในช่วง  5 ปีแรกของการหมดประจำเดือน ซึ่งในช่วงนั้นสุขภาพสตรีทุกคนจะมีการสูณเสียเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็ว  (3-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี )  ถ้าคูณตัวเลขเหล่านี้จะเห็นว่าสูงถึง 15-25 เปอร์เซ็นต์  ของกระดูกในร่างกาย สำหรับเพศชายนั้นไม่มีช่วงที่สูญเสียเนื้อกระดูกมากๆ  อย่างในหญิงวัยหมดประจำเดือน  ยกเว้นว่ามีความผิดปกติของการผลิตฮอร์โมนเพศชายจะทำให้เนื้อกระดูกบางกว่าปกติ
    • หญิงที่มีการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง  จะเกิดการสูญเสียเนื้อกระดูกในลักษณะดังกล่าวในช่วงหลังการผ่าตัด
  • ปัจจัยที่สร้างการต้านสะสมเนื้อระดูก 
    • การทานโซเดียมหรือเกลือมากเกินไป  ร่างกายจะต้องขับเกลือส่วนเกินออกทางปัสสาวะ และจะขับแคลเซียมออกมาด้วย ทำให้มีการสูญเสียแคลเซียมไปทางปัสสาวะมากขึ้น เช่น การทานอาหาร ถ้าได้รับเกลือมากกว่า 1 ช้อนชา/วัน ชา กาแฟมากกว่า 3 แก้ว/วัน น้ำอัดลมมากกว่า 4 กระป๋อง/สัปดาห์ และทานโปรตีนมากกว่า 10 – 15% ในแต่ละมื้อของอาหาร มีความเสี่ยงกระดูกพรุนสูง เนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ส่วนอาหารเค็มจัดและคาเฟอีนยังทำให้ร่างกายขับแคลเซียมมากขึ้นอีกด้วย
    • แอลกอฮอล์ บุหรี่และกาแฟ  จะลดการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกาย ทำให้การเนื้อกระดูกไม่มีประสิทธิภาพ
    • ยาหลายชนิดโดยเฉพาะสเตียรอยด์  ยากลุ่มนี้จะทำให้มีการสลายของกระดูกมากขึ้น  จนเกิดภาวะกระดูกพรุนจะมีอาการปวดหลังปวดกระดูกตามมา
    • คนที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (Hyperthyroidism ) และโรค Cushing
    • โรคของต่อมหมวกไต หรือการเข้าเฝือกเป็นระยะเวลานาน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
    • เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับ โรคทางเดินอาหารผิดปกติ
    • เคยกระดูกหัก โอกาสที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.5 เท่า
  • ลักษณะการดำเนินชีวิต ( Lifestyle ) การทำงานออกแรง และการออกกำลังกายจะทำให้เกิดแรงกดที่กระดูก ซึ่งจะทำให้ร่างกายเสริมกระดูกให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น  หรือน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากโหมออกกำลังกายหรืออดอาหาร

อาการโรคกระดูกพรุน

เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ส่วนอาการที่พบได้คือปวดหลัง ซึ่งเกิดจากกระดูกบางมาเป็นเวลานาน อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีกระดูกสันหลังยุบตัว และจะทำให้หลังค่อมและเตี้ยลงได้ นอกจากกระดูกสันหลังแล้ว กระดูกอื่น ๆ ที่ถูกทำลายมาก คือ ข้อมือและสะโพก  อาการโรคกระดูกพรุนมี 2 ระยะดังนี้

  • ระยะเริ่มต้น  ที่มวลกระดูกเริ่มลดลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการอะไรเลย ส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นในผู้หญิงที่เริ่มหมดประจำเดือน  โดยจะแสดงอาการต่อเมื่อกระดูกหักไปแล้ว ดังนั้นหากสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยง ควรพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจมวลกระดูก หรือคำนวณความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก
  • ระยะรุนแรง ระยะนี้กระดูกของผู้ป่วยจะบางมาก อาจส่งผลให้กระดูกสันหลังหักยุบ หรือเกิดกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลัง หลังโก่งค่อม ส่วนสูงลดลงเนื่องจากการหักและยุบตัวของกระดูกสันหลัง  บางครั้งอาจเกิดการปวดหลังร้าวมาที่บริเวณหน้าอก  ทานข้าวได้น้อยลง อืดท้องแน่นท้อง มักจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป บางครั้งอาจเกิดกระดูกหักที่ตำแหน่งบริเวณข้อมือ กระดูกหักง่าย ปวดเมื่อยตามร่างกาย  เป็นต้น
การรักษาโรคกระดูกพรุน

การรักษาโรคกระดูกพรุน

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยยา โดยจะพิจารณาความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้

การรักษาด้วยการใช้ยา  ด้วยการกินยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนโดยตรง ทำให้ลดการทำลายของกระดูก เพิ่มการสร้างทำให้มวลกระดูกหนาแน่นขึ้นอาทิ

  • ฮอร์โมนเอสโตรเจน มักให้ในกลุ่มผู้ป่วยตัดรังไข่ หรือ เพื่อลดอาการจากการหมดประจำเดือน
  • แคสซิโนติน (Calcitonin) เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่สกัดจากปลาแซลมอน ช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก และลดอุบัติการณ์กระดูกสันหลังหัก มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้
  • บิสฟอสพอเนต (Bisphoshonates) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อกระดูกสันหลังหักยุบ และกระดูกสะโพกหักได้
  • SWEMs (selective estrogen receptor modulators) เป็นยาที่สังเคราะห์ขึ้นคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเต้านม สามารถลดการสูญเสียมวลกระดูก และลดอุบัติการณ์ของกระดูกเปราะหักได้
  • ฮอร์โมนพาราไธรอยด์ในผู้ป่วยที่กระดูกพรุนรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อยากลุ่มอื่น

การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากภาวะกระดูกหัก เช่น การฉีดซีเมนต์ที่กระดูกสันหลัง ในรายที่กระดูกสันหลังหัก ยุบ หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมในรายที่กระดูกสะโพกหัก 

สิ่งที่จะทำให้ทราบได้ว่ากระดูกมีการเสื่อมสภาพหรือไม่ ทำได้โดยการปรึกษาแพทย์เพื่อซักประวัติ เอกซเรย์ ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก และหากพบความผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลที่ถูกต้อง

ตรวจโรคกระดูกพรุน ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก