ตับ เป็นอวัยวะที่สำคัญ มีหน้าที่การผลิตน้ำดี  ซึ่งน้ำดีนี้ก็จะทำหน้าที่ไปย่อยอาหารประเภทไขมัน และจัดการกับสารพิษต่างๆ ที่ร่างกายรับเข้ามาสู่ร่างกาย พร้อมทั้งกรองของเสียต่างๆ แล้วขับออกจากร่างกายไม่ให้มีการตกค้าง หรือให้เป็นของดีมีประโยชน์นำกลับมาใช้ในร่างกาย 

ดังนั้นถ้าตับทำงานได้น้อยลง หรือเกิดโรคของตับ เช่น มีไขมันพอกตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างก่ายที่ส่งผลไปทั้งระบบ จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้เมื่อตับเสียการทำงานจนถึงขั้นเข้าสู่ภาวะตับวาย และโรคมะเร็งตับได้

โรคตับ

ตับมีหน้าที่อะไรบ้าง?

  • ผลิตน้ำดี คือ การสร้างน้ำดีและเกลือน้ำดี โดยจะสร้างน้ำดีวันละประมาณ 500 – 1000 CC. ซึ่งจะทำการลำเลียงน้ำดีเหล่านั้นไปตามท่อน้ำดี
  • การสะสมน้ำตาล  คือ การสะสมสารอาหารไว้ให้ร่างกายดึงออกมาใช้ในยามจำเป็น หรือในยามที่ร่างกายต้องการพลังงาน โดยตับจะสะสมทั้งไกลโคเจนที่แปลงมาจากน้ำตาลกลูโคส หรือหากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปไม่เหมาะสมกับความต้องการ เช่น มีแต่โปรตีนแทบไม่มีคาร์โบไฮเดรต ตับจะเปลี่ยนโปรตีนเป็นคาร์โบไฮเดรต ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ เป็นต้น
  • สร้างน้ำย่อยอาหาร โดยมีจุดหมายปลายทางคือ ลำไส้เล็ก โดยทำหน้าที่ในการช่วยย่อยสลายสารอาหารประเภทไขมันที่ลำไส้เล็ก
  • สร้างฮอร์โมนช่วยสร้างเกล็ดเลือดของไขกระดูก  หากตับทำงานผิดปกติเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายผิดปกติไปด้วย ทำให้เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อัณฑะฝ่อ ประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ ฝ่ามือแดงผิดปกติ หรือมีจุดแดงที่หน้าอก หน้าท้อง ฯลฯ
  • สันดาป/สังเคราะห์โปรตีน และไขมัน  โปรตีนในเลือดส่วนใหญ่จะสังเคราะห์ขึ้นจากเซลล์ตับ เช่น โปรตีนอัลบูมินที่ช่วยควบคุมการแลกเปลี่ยนน้ำระหว่างเนื้อเยื่อกับเลือด โปรตีนที่ช่วยห้ามเลือดเมื่อผนังหลอดเลือดได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
  • การกำจัดสารพิษและของเสียต่าง ๆ ในร่างกายนั้น ถือ เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของตับที่สำคัญ โดยจะทำการกำจัดสารพิษที่ลำไส้ดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด และเมื่อสารพิษเหล่านั้นเดินทางผ่านมายังตับ ตับก็จะทำลายทิ้งทันที หรือหากทำลายไม่ได้ก็จะส่งสารพิษนั้นออกไปทางระบบขับถ่ายของเรา ซึ่งสารพิษที่เป็นอัตราย ได้แก่ แอมโมเนีย แอลกอฮอล์ คาร์บอนเตตราคลอไรด์ และคลอโรฟอร์ม เป็นต้น 
  • สร้างโปรตีนอีกหลายชนิดที่สำคัญ คือ Globulin Albumin และโปรตีนที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด
  • สร้างเม็ดเลือดแดงตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 2 เดือน
  • ทำหน้าที่ในการรีไซเคิลสารจากเม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลายที่ม้าม และรวมไปถึงสะสมธาตุเหล็กที่เกิดจากการสลายตัวของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อนำกลับไปใช้สร้างฮีโมโกลบิน
  • เป็นแหล่งเก็บวิตามินต่างๆ เช่น วิตามิน B12, วิตามิน A, D, E และ K

โรคตับ คืออะไร?

โรคตับ (Liver disease)  เป็นโรคที่เกิดจากการที่ตับได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดแผลเป็นแบบถาวร จนทำให้เป็นพังผืดขึ้นในเนื้อตับ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับช้าลง เริ่มตั้งแต่การผลิตโปรตีน การจัดการกับสารพิษในร่างกาย การไหลเวียนของเลือดที่ไหลผ่านตับไม่สะดวก หรือบางกรณีอาจปิดกั้นไปเลยก็มี ขึ้นอยู่กับอาการว่าเป็นหนักหนาแค่ไหน ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายแปรปรวน และอาจนำพาให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้เช่นกัน เช่น เลือดออกง่าย และมีของเสียต่างๆสะสมในร่างกาย จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เมื่อตับเสียการทำงานจนถึงขั้นเข้าสู่ภาวะตับวาย โรคตับพบเกิดได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ภาวะตัวเหลืองที่พบได้ตั้งแต่แรกเกิด (ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก) หรือโรคไวรัสตับอักเสบที่พบได้ในทุกอายุ

สาเหตุโรคตับ

สาเหตุโรคตับ               

  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้หลายชนิด ที่พบบ่อย คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี
  • โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง  ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคไข มันพอกตับ
  • การติดเชื้ออื่นๆนอกเหนือจากเชื้อไวรัส เช่น ติดเชื้อแบททีเรีย (เช่น ฝีตับ/ Amoe bic liver abscess) ติดเชื้อรา ติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว เช่น ฝีตับมีตัว (Amoebic liver abscess) และโรคพยาธิใบไม้ตับ (Liver fluke) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเกิดจากท่อน้ำดีในตับ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด (เช่น ยาบางชนิดที่ใช้รักษาวัณโรค หรือจากยาพาราเซตามอล/Paracetamol) หรือสารพิษบางชนิด (เช่น เห็ดพิษ หรือสมุนไพรบางชนิด)
  • โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
  • โรคมะเร็ง ทั้งชนิดที่เกิดจากเซลล์ตับเอง (โรคมะเร็งตับ) และจากโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งเต้านม แล้วแพร่กระจายตามกระแสโลหิตมาสู่ตับ
  • พันธุกรรม เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก และมักพบเกิดตั้งแต่เป็นเด็ก เช่น โรค Hemo chromatosis คือ โรคที่มีธาตุเหล็กไปจับในตับมากเกินปกติจนเป็นสาเหตุให้ตับสูญเสียการทำงาน เป็นต้น
  • ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารพิษ และสารเคมีต่างๆโดยไม่รู้จักการป้องกัน หรือการได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ
  • ทำงานที่ต้องสัมผัสกับ เลือด สารคัดหลั่ง หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น (เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี)
  • การกินอาหารที่ขาดสุขอนามัย (เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ เอ)
  • กินยาพร่ำเพรื่อ เสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยา
  • ชอบกินสมุนไพร หรือเห็ดแปลกๆ
  • การเปลี่ยนคู่หลับนอน (เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ บี)
  • การสักตามร่างกาย หรือ เจาะร่างกายจากแหล่งบริการที่ไม่สะอาดพอ เพราะอาจเป็นสาเหตุการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
อาการโรคตับ

อาการโรคตับ

มีได้หลากหลายอาการ ขึ้นกับสาเหตุ แต่อาการโดยรวมที่มักคล้ายคลึงกันในทุกสาเหตุของโรคของตับ ได้แก่

  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
  • ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ร่วมกับอุจจาระสีซีด
  • มีน้ำในท้อง หรือท้องมาน มักร่วมกับอาการบวมเท้า
  • มีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่ค่อยหลับ แต่มักจะรู้สึกง่วงในเวลากลางวัน รู้สึกเหนื่อยง่ายคล้ายคนไม่มีเรี่ยวแรง บางคนอาจจะมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหารร่วมด้วย และมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนเวลาทานอาหารแล้วไม่ย่อย รวมทั้งเรอบ่อยขึ้น
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจขาดไปเลย หรือมาแบบไม่สม่ำเสมอ ทั้งที่ปกติไม่เคยเป็น ส่วนผู้ชายบางคนอาจมีอาการเต้านมขยาย มีอาการเจ็บที่เต้านม และบางคนอาจจะทำให้อัณฑะฝ่อตัว หรือสมรรถภาพทางเพศลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อยู่ๆ มีอาการคันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพราะมีน้ำดีไปสะสมอยู่บริเวณผิวหนังส่วนนั้น เลยทำให้เกิดอาการคันตามตัวขึ้นมา
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง คล้ายกับคนเป็นดีซ่าน เพราะตับไม่สามารถทำหน้าที่ขับน้ำดีออกจากตับได้ จนทำให้มีการแพร่กระจายไปที่ตา และร่างกายจนตัวเหลือง
  • มีอาการบวมเกิดขึ้นที่หลังเท้า แขนขา และหน้าท้อง เนื่องจากตับไม่สามารถสร้างโปรตีนในเลือดได้นั่นเอง
  • เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น จะทำให้เลือดออกง่ายกว่าปกติ และไม่ยอมหยุดไหลง่ายๆ เพราะตับไม่สามารถสร้างสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้
  • บางรายที่เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดเพราะความดันในตับสูง จนทำให้หลอดเลือดดำในหลอดอาหารมีความดันสูง ซึ่งหากความดันสูงมากก็จะทำให้หลอดเลือดดำแตกได้
  • ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ทำให้เจ็บป่วย หรือติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • เจ็บใต้ชายโครงขวา หรือเจ็บ/ปวดท้องด้านขวาตอนบน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ของตับ รู้สึกร้อนวูบที่ช่องอก รวมไปถึงมีอาการตึงที่กล้ามเนื้อช่องท้อง จนเป็นที่มาของอาการปวดท้องน้อย 
  • ถ้าลองสังเกตบริเวณมุมปาก และริมฝีปาก จะเห็นว่ามีสีคล้ำผิดปกติ รวมไปถึงลิ้นก็จะออกสีม่วงคล้ำ และขอบลิ้นจะมีรอยกดทับของฟันด้วย
  • เมื่อเป็นมาก ลมหายใจอาจมีกลิ่นออกหวาน (กลิ่นของสารตกค้างในร่างกาย เช่น สารที่เรียกว่า Ketone) สับสน อารมณ์แปรปรวน มือ เท้า กระตุก และมือสั่น

การรักษาโรคตับ

แนวทางการรักษาโรคตับ คือ การรักษาสาเหตุ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ

  • การรักษาสาเหตุ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อโรคตับเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย การผ่าตัดเมื่อมีเนื้องอกในตับ การเลิกสุรา หรือการหยุดยา เมื่อโรคตับเกิดจากสุรา หรือ จากยา เป็นต้น นอกจากนั้นเมื่อตับสูญเสียการทำงานจนเกิด ภาวะตับวายเรื้อรัง การรักษาคือ การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver transplantation)
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาแก้ปวด หรือ ยาบรรเทาอาการคลื่น ไส้ อาเจียน ตามอาการ การทำผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำดีเมื่อมีตัว ตาเหลืองมากจากมีการอุดตันของทางเดินน้ำดีในตับ และการให้สารน้ำและอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกิน ดื่ม ได้น้อย เป็นต้น

การตรวจโรคตับ ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก