HIV หรือ Human Immunodeficiency Virus คือ ไวรัสที่สามารถทำลายภูมิคุ้มกันจำพวก T-helper cell ชนิด CD4+ ในร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีจะทำให้เกิดโรคเอดส์ (AIDS; Acquired Immunodeficiency Syndromes) เมื่อร่างกายของเราได้รับเชื้อเอชไอวี เข้าไปแล้ว เชื้อจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว (CD4) และระบบภูมิคุ้มกันให้เกิดการบกพร่อง ทำให้สภาพร่างกายค่อยๆ อ่อนแอลง จึงเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่าย ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชไอวี ผู้ป่วยติดเชื้อส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ และอาจนำไปสู่โรคเอดส์ในภายหลังได้

อาการของโรคเอดส์ที่สามารถพบได้ เช่น มีไข้เรื้อรัง, ถ่ายเหลวเรื้องรัง, น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น นอกจากนี้ในผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี จนภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำมาก ๆ ยังมีโอกาสติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น เชื้อราในปอด, เชื้อราในสมอง, วัณโรคต่อมน้ำเหลือง, หรือฝีในสมอง เป็นต้น

ตรวจคัดกรองไวรัสเอชไอวี

ทำไมต้องเข้าตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี

ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีควรรีบเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ เนื่องจากการวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความกังวลใจ นอกจากนี้ถ้าผู้รับการตรวจติดเชื้อเอชไอวี จะทำให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว ได้รับทราบข้อมูลในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงเทคนิคในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีและนำไปสู่ผู้ป่วยโรคเอดส์เต็มขั้น และจะได้ลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส (Pneumocystis Carinii Pneumonia : PCP) วัณโรค (Tubercolosis) เชื้อไวรัสขึ้นจอประสาทตา เป็นต้น

ในขณะที่ผู้ที่เข้ารับการตรวจที่มีผลเลือดเป็นลบ จะได้รับทราบข้อมูลในการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อในอนาคตต่อไป ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงรับเชื้อเอชไอวี จึงควรเข้ารับการตรวจเอชไอวี โดยเร็วที่สุด หากพบเชื้อก็จะได้วางแผนการรักษาและดูแลตัวเองได้ทันก่อนที่อาการจะลุกลามมากขึ้น

ใครควรตรวจคัดกรองไวรัสเอชไอวี

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มีความเสี่ยงโดยไม่ได้ป้องกัน
  • ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทางทวารหนักโดยไม่ได้ป้องกัน
  • ผู้ติดสารเสพติดที่ใช้เข็มร่วมกัน
  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
  • ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • หญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ที่สถานพยาบาล
  • ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ป่วยวัณโรค เพราะวัณโรคเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเอดส์ และการติดเชื้อ HIV ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดวัณโรค
  • บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุจากการทำหัตถการที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

เราจะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชไอวี

ส่วนมากการตรวจ HIV ในปัจจุบันสามารถพบเชื้อได้หลังรับมาภายใน 30 วัน โดยอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

วิธีเดียวที่สามารถทราบได้ คือ การตรวจเลือดเพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี โดยสามารถใช้วิธี

  • การตรวจหาภูมิจากการติดเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV) สามารถตรวจพบเชื้อหลังเสี่ยงมาเกิน 21-30 วันขึ้นไป
  • การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี (NAT) สามารถตรวจพบเชื้อหลังเสี่ยงมาเกิน 7 วัน
  • การตรวจหาปริมาณของเชื้อไวรัสในเลือด (HIV-Viral Load) สามารถตรวจพบเชื้อหลังเสี่ยงมาเกิน 14 วัน

ซึ่งวิธีการตรวจเลือดเพื่อหา Anti-HIV ในเลือดเป็นวิธีที่ได้มาตรฐานสากลและนิยมใช้กันทั่วโลกปัจจุบันชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีมีการพัฒนามาจนถึงรุ่นที่ 4 (4th Generation) สามารถตรวจหาการติดเชื้อหลังจากที่มีความเสี่ยงมาแล้ว 21 วัน

การยืนยันว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี จำเป็นต้องมีผลการตรวจคัดกรองเอชไอวีจำนวน 3 การทดสอบที่แตกต่างกันและให้ผลบวกทั้ง 3 การทดสอบ จึงจะสามารถยืนยันผลได้ว่าบุคคลนั้นมีการติดเชื้อเอชไอวี หรือมีผลเลือดบวก หากชุดการทดสอบที่แตกต่างกันให้ผลบวก 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 3 จะไม่สามารถสรุปได้ว่ามีการติดเชื้อ HIV ได้ (Inconclusive)

ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเองที่บ้านได้ (HIV Self-testing) ซึ่งมีความแม่นยำในการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีสูงถึง 99.9% สามารถตรวจจากการใช้เลือด หรือสารคัดหลั่งในปาก

ผลตรวจคัดกรองไวรัสเอชไอวี

ผลตรวจคัดกรองไวรัสเอชไอวี เป็นอย่างไร

การวินิจฉัยผลเลือดจะมีทั้งหมด 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ 

  • ผลบวก (Reactive หรือ Positive) คือ มีการติดเชื้อ HIV 
  • ผลลบ (Non-reactive หรือ Negative) คือ ไม่พบการติดเชื้อ HIV 

ซึ่งการแปลผลตรวจจะอาศัยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการควบคู่กับความเสี่ยงหรือพฤติกรรมของผู้เข้ารับการตรวจก่อนหน้าการตรวจเลือดดังต่อไปนี้

  • กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่มีประวัติเสี่ยงรับเชื้อ และตรวจคัดกรองได้ผลลบ แสดงว่าผู้นั้นไม่ติดเชื้อเอชไอวี
  • กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อและตรวจด้วยคัดกรองวิธีแรกได้ผลบวก จะต้องตรวจซ้ำด้วยชุดตรวจที่ต่างกับชุดตรวจแรกอีก 2 ชุด ถ้าให้ผลบวกเหมือนกับชุดแรกจะรายงานว่าผู้เข้ารับการตรวจมีผลเลือดบวก นั่นคือมีการติดเชื้อ HIV แพทย์จะนัดมาเจาะเลือดซ้ำเพื่อยืนยันผลอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงมีตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ปริมาณไวรัสในเลือด ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลิมโฟไซต์ เพื่อใช้ประเมินและวางแผนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสต่อไป
  • แต่ถ้ากรณีผลการตรวจซ้ำไม่สอดคล้องกับการตรวจครั้งแรก แพทย์จะนัดมาเจาะเลือดตรวจอีกครั้งหนึ่งหลังจากการตรวจครั้งแรก 2 สัปดาห์และติดตามจนครบ 1 เดือนอีกครั้ง โดยในระหว่างนี้ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะได้การแนะนำในการดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้รับเชื้อเพิ่มหรือแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ถ้าภายหลัง 1 เดือนตรวจได้ Non-reactive แสดงว่าผู้เข้ารับการตรวจไม่ติดเชื้อ แต่ถ้าให้ผลบวกแสดงว่าติดเชื้อ

การตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีสามารถตรวจได้ที่ใด ?

ปัจจุบันประชาชนทั่วไปสามารถใช้สิทธิในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง, คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย นอกจากนี้ยังสามารถขอรับบริการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี และคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการประจำตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงสามารถเข้ารับการตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการ หรือคลินิกเทคนิคการแพทย์ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้เช่นกัน

การตรวจคัดกรองไวรัสเอชไอวี ที่ภูเก็ตตรวจได้ที่ไหน?

ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก ให้บริการที่ใกล้ชิด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งทีมงานที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาและ การรักษา โดยคุณสามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง walk-in หรือนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
จองคิวออนไลน์ https://phuketmedicalclinic.youcanbook.me
เวลาทำการ 🕙 10:00-18:00 น. ทุกวัน
เบอร์ติดต่อ ☎️ 096-696-2449
Line id : @pmcphuket (มี @ ด้วยนะครับ) หรือ https://lin.ee/R1TKRDo
แผนที่ 📌https://goo.gl/maps/xu45eTQUTjgpukJa7
Website 🌐https://phuketmedicalclinic.com
ปรึกษาแพทย์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยนะครับ
Inbox : m.me/100483916443107
สุขภาพคุณให้เราดูแล#คลินิกภูเก็ต
Phuket #Clinic #ภูเก็ตเมดิคอลคลินิก